กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ศรีปทุมโพล
“ศรีปทุมโพล” โดยสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3,000 คน ในหัวข้อ “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เนื่องในโอกาสวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีตรงกับวันรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้การเมืองและสังคม กลับมาสามัคคีกัน ร้อยละ 35.10 รองลงมา คือ ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง ร้อยละ 34.23, ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.00 และไม่แสดงความคิดเห็นร้อยละ 0.67
เมื่อถามถึงความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่จริงใจ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่เป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงแต่กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการชิงความได้เปรียบและหาประโยชน์ใส่ตัว ร้อยละ 22.50 รองลงมา คือ จริงใจ เนื่องจากความล่าช้าเกิดจากปัจจุบันรัฐบาลประสบกับหลายปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไข เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาภาคใต้ ร้อยละ 14.67, ไม่จริงใจ เพราะเป็นการยื้อเวลาโดยสร้างสถานการณ์ความเห็นไม่ตรงกันภายในพรรครัฐบาล ร้อยละ 14.00, ไม่จริงใจ เพราะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนจากการติดตามเรื่องการทุจริตในการใช้งบประมาณ ร้อยละ 13.13, จริงใจ เพราะความล่าช้าเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเวทีให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม, ไม่จริงใจ เพราะ เป็นการยื้อเวลาเพื่อสร้างผลงานและความประทับใจให้ประชาชน หวังผลการเลือกตั้ง ร้อยละ 12.17, จริงใจ เพราะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องธรรมดา ร้อยละ 9.10 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 1.47
ส่วนประเด็นที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส. และส.ว. (มาตรา 266) ร้อยละ 34.47 รองลงมา คือ ประเด็นยุบพรรคการเมือง เเละการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหาร (มาตรา 237) ร้อยละ 23.10, การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของสภา (มาตรา 190) ร้อยละ 11.10, การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ ส.ส. (มาตรา 265) ร้อยละ 11.03, ที่มาของ ส.ส. (มาตรา 93-98) ร้อยละ 10.50, ที่มาของ ส.ว. (มาตรา 111-121) ร้อยละ 6.97 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 2.83
เมื่อถามว่าประชาชนควรจะทำอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรจะติดตามข่าวสารการเมืองอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 39.17 รองลงมา คือ ช่วยกันแสดงความคิดเห็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามไม่ควรนิ่งเฉยเพราะว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชน ร้อยละ 33.57, ควรจะอ่านรัฐธรรมนูญจะได้เข้าใจสาระสำคัญ ร้อยละ 14.83, อยู่เฉยๆ เพราะมีตัวแทนอยู่ในสภาแล้ว ร้อยละ 11.17 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 1.27
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันสภาพปัญหาการเมืองไทยถือได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เกิดการแตกแยกของประชาชนในประเทศ มีการแบ่งเป็นพรรค เป็นพวก เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ นักการเมืองก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกันอย่างมาก น่าจะมีสาเหตุมาจากประเด็นปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีการโต้แย้งกันอย่างหนักในสังคม ขาดทิศทางที่ชัดเจนและไม่สามารถหาข้อสรุปได้
ประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่า การแก้ไขจะเป็นหนทางทำให้การเมืองและสังคมกลับมาสามัคคีกัน สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพราะการแก้ไขนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง จึงไม่มีประโยชน์ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ช่วยให้ประโยชน์ส่วนรวมดีขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีกลุ่มประชาชนที่ไม่แน่ใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่มากเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะ รอดูท่าทีที่ชัดเจนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงยังไม่แน่ใจว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน
ส่วนด้านความจริงใจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในด้านหนึ่ง ประชาชนกว่าร้อยละ 60 เห็นว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะรัฐบาลขาดความชัดเจนและประชาชนเห็นว่าการแก้ไขหรือไม่แก้ไขได้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการชิงความได้เปรียบและหาผลประโยชน์ส่วนตัว ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไข แต่อาจจะเกิดความล่าช้าไปบ้างเนื่องจากมีปัญหาหลายด้านที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนทั้งปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาภาคใต้ แต่ความจริงใจก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า เพียงร้อยละ 36.74 เท่านั้น
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองขณะนี้ หัวใจสำคัญในการคงไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าจะติดตามข่าวสารทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และช่วยกันแสดงความคิดเห็นของตนเอง ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม จะไม่นิ่งเฉยเพราะว่าเป็นสิทธิของประชาชน แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยให้ความสนใจกับการเมืองในขณะนี้อย่างยิ่ง และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง อยากจะแสดงความคิดเห็นของตน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาทางการเมือง หากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงประชาชนเห็นว่าประเด็นที่ควรจะแก้ไขมากที่สุด คือ มาตรา 266 เรื่องการแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ อาจเป็นเพราะประชาชนเห็นว่าสส.และสว. ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชนควรมีสิทธิติดตาม ทวงถาม ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ควรปล่อยให้การบริการสาธารณะต่างๆ ดำเนินการโดยส่วนราชการเพียงลำพัง