คีนันเชื่ออุตฯ ท่องเที่ยว-เครื่องหนัง พร้อมรับมือ EU-FTA แนะรัฐติวเข้มเอกชน สร้างความแข็งแกร่งเพิ่มโอกาสธุรกิจ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 9, 2009 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สถาบันคีนันแห่งเอเซีย สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ชี้ผลศึกษาผลกระทบเปิดเสรีทางการค้า EU-Thailand FTA ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนังและเครื่องหนัง รับผลกระทบไม่มากนัก หลังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแกร่งพร้อมรับมือมากพอ เชื่อหากเปิดเสรีทางการค้าไทย-อียู ทำให้ไทยได้เปรียบส่งออกสินค้า-ดึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้าประเทศมากขึ้น แนะภาครัฐหนุนภาคเอกชน จัดตั้งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมทางด้านภาษา สร้างอำนาจต่อรองและการแข่งขันทางการค้า 9 ธันวาคม 2552 กรุงเทพฯ — นายพอล วิเด็ล กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาในโครงการศึกษาหาความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับประเทศไทยหรือ EU-Thailand FTA ซึ่งได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เครื่องหนัง และโลจิสติกส์ พบว่าผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการเปิดเขตการค้าเสรี EU-Thailand FTA ที่จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีไทยได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้ร้องขอให้ภาครัฐเร่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ ตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมองว่า ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการดึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่ดีและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน โดยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง และยังเป็นตลาดที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดเขตการค้าเสรี EU-Thailand FTA นั้น ทางกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว จะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ เนื่องจากเอสเอ็มอีไทยในกลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีจุดอ่อนในเรื่องการบริหารจัดการและเงินทุน ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ จะช่วยสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งและเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางธุรกิจ รวมถึงรเสนอแนวทางต่อภาครัฐในการสนับสนุนสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชนในกลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ ยังต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้านภาษาที่ต้องมีมากกว่า 3 ภาษา และมีความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ของคนยุโรป ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนังของไทย แสดงความเห็นว่า การเปิดเอฟทีเอกับอียู จะเป็นโอกาสที่ดีต่อสินค้าในกลุ่มเครื่องหนังประเภทหนังงู หนังจระเข้ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นพวกเบาะรถยนต์ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มเครื่องหนังประเภทรองเท้าและกระเป๋านั้น ผู้ประกอบการมีความวิตกเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า เพราะจะทำให้สินค้าระดับราคาปานกลางในกลุ่มกระเป๋าและรองเท้าจากยุโรปที่ได้เปรียบในเรื่องของราคาและดีไซน์ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า จะเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น โดยกรณีดังกล่าว ภาคเอกชนควรเร่งสร้างตราสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องเข้าให้ความช่วยเหลือในเรื่องการสร้างแบรนด์ และกำหนดกลยุทธ์ในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการสร้างตราสินค้าให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ มองว่าการบริการโลจิสติกส์มีการเปิดเสรีอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว และมีผู้ประกอบการต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรในประเทศไทยมานานแล้ว ซึ่งรูปแบบของการลงทุนของผู้ประกอบการชาวต่างชาติจะใช้รูปแบบนอมินี แต่หากมีการเปิดเขตการค้า EU-Thailand FTA จะทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะยังไม่มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจโลจิสติกส์ที่มากพอจะไปแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจนี้ต่อไป โครงการศึกษาหาความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับประเทศไทย (Thailand-EU SME FTA Enhancement Program) ได้รับทุนศึกษาวิจัยจากสหภาพยุโรป โครงการดังกล่าวศึกษาความช่วยเหลือของภาครัฐที่มีอยู่แล้ว พร้อมทั้งนโยบายการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะลดผลกระทบด้านลบ และสร้างความแข็งแกร่งในเชิงการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี The European Commission is the EU’s executive body สหภาพยุโรปประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทรัพยากร และร่วมกำหนดทิศทางของกลุ่ม ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้สร้างเสถียรภาพของกลุ่ม ด้วยแนวคิดประชาธิปไตย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการยอมรับของความแตกต่างทางประเพณีวัฒนธรรม และให้อิสระแต่ละฝ่ายในการคิดและตัดสินใจ กลุ่ม EU มีพันธะสัญญาที่จะนำพาสมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งประชาชนในประเทศสมาชิก ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันโดยไม่มีการแบ่งเขตแดนประเทศ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย (www.kiasia.org) สถาบันคีนันแห่งเอเซีย เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศในภาคพื้นเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันคีนันฯ ทำหน้าที่บริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม “Thailand — EU SME FTA Enhancement Program” ติดต่อ : คุณบุศกร จันทศาศวัต สถาบันคีนันแห่งเอเซีย โทร : 02-229-3131 โทรสาร: 02-229-3130

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ