กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ปตท.
เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ในภาควิชาวิศวกรรมเคมีให้แก่เยาวชนระยอง พร้อมเจาะลึกความรู้เรื่องปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ก่อนเฟ้นหา 4 นักเรียนคนเก่งเข้ารับโควตาและเรียนต่อระดับปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ป้อนวิศวกรเคมีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมไทย
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสื่อความ กลุ่ม ปตท. ในพื้นที่จ.ระยอง เปิดเผยว่า วันที่ 9-11 ธันวาคม นี้ กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดค่ายเยาวชน “ปิโตรแคมป์..สู่แชมป์ปิโตรปี 52” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปีนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จ.ชลบุรี และ มจธ. กรุงเทพฯ เพื่อเปิดประสบการณ์เรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีให้กับนักเรียน 60 คนจาก 7 โรงเรียนในจังหวัดระยอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้หลายรูปแบบ อาทิ การเข้าทัศนศึกษาโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี การลงมือทดลองในฐานวิทยาศาสตร์ และห้องทดลองของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. จากนั้นจะคัดเลือกเยาวชนคนเก่ง 4 คนเข้ารับโควต้า พร้อมทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ตลอด 4 ปี เพื่อสร้างบุคลากรสาขาวิศวกรเคมีที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางมาเป็นกำลังในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยในอนาคต
“การที่นักเรียนได้เรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยได้เข้าฝึกปฏิบัติในห้องทดลองและเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของอาชีพวิศวกรเคมี จะเป็นโอกาสให้ค้นหาตนเองว่าสนใจและต้องการเรียนรู้ในสายวิชาชีพจริงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนและมหาวิทยาลัยที่จะได้คัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสม มีความสนใจเรียนด้วยความตั้งใจจริง เมื่อเรียนจบก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ และยานยนต์สามารถสร้างรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 5-6% ของ GDP ของประเทศ” นายบวร กล่าวเพิ่มเติม
กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขาเหล่านั้นเติบโตอย่างมีศักยภาพ เป็นทั้งคนเก่งและคนเดีที่น่าภาคภูมิใจของสังคมไทย ความร่วมมือของ มจธ. และ กลุ่ม ปตท. ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่สถาบันการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน จะได้ช่วยกันสร้างสรรบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการสร้าง“เด็กเก่งและดี” ด้านต่างๆ ให้กับสังคมไทย