กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--การบินไทย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และเป็นสายการบินชั้นนำของโลก ประกาศสนับสนุนนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมในระดับผู้นำ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่จะมีการประชุมตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) หรือ COP 15 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคมนี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยมีนโยบายที่ชัดเจน ในเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน และยืนยันในท่าทีดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการประชุมตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) หรือ COP 15 โดยการบินไทยได้กำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ให้มีความรับผิดชอบต่อการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจ ในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางโดยเครื่องบินให้แก่ผู้โดยสารด้วย
สำหรับบทบาทความรับผิดชอบของการบินไทย ประกอบด้วย การกำหนดบทบาทการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศยาน ภายหลังจากการประชุมพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี ค.ศ.1997 ซึ่งองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ยอมรับในเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้การบินไทยมีเป้าหมายที่จะต้องควบคุมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับคงที่ (Carbon Neutral Growth) ในปี ค.ศ. 2020 และจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งบริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากองค์กรการค้าก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับภาครัฐในการลงทุนเรื่องระบบ และเครื่องอุปกรณ์อากาศยานให้มีความทันสมัยและการลงทุนในเรื่องวิศวกรรมการบิน การวิจัยเทคโนโลยีการบิน และในอนาคตจะมีการพัฒนาเรื่องการใช้พลังงานทดแทน (Biofuel) ที่สามารถใช้กับเครื่องบินของการบินไทยได้
การบินไทย ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนมาโดยตลอด และการบินไทยเป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เข้าร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศ หรือ IATA ในการหาแนวทาง ชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Offset ของผู้โดยสาร อีกทั้งยังมีนโยบายและดำเนินการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง ด้วยการดำเนินโครงการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงการบิน (Fuel Management) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงประมาณปีละ 6.8 หมื่นตัน และในอนาคตอันใกล้นี้ การบินไทย ยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมาย ที่จะร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งนี้ เพื่อสร้างการบินไทยให้เป็นสายการบินสีเขียว หรือ Green Airline ของผู้โดยสารและสายการบินลูกค้า ควบคู่ไปกับโลกที่น่าอยู่ของเราตลอดไป