ป.ป.ท. ร่วมกับ ม.อัสสัมชัญ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน

ข่าวทั่วไป Friday December 11, 2009 12:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กับ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมกับ ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) เปิดเผยโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ท. กับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและจัดอันดับความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศและมีการรายงานผลทุก 4 เดือน นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ป.ป.ท. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีพันธกิจสำคัญ คือ ตรวจสอบและไต่สวนปัญหาการทุจริตในภาครัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของสังคมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานราชการ และพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงโครงสร้าง กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะสามารถแก้ไขและลดทอนปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐได้ แต่การจะบรรลุเป้าหมายสำคัญนี้ได้ สำนักงาน ป.ป.ท. จำเป็นต้องมีเครือข่ายสำคัญในการทำงาน ทั้งจากภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน สื่อมวลชน และส่วนของงานวิชาการ สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ประสานงานมายัง ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อจัดให้มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็น หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ด้าน ดร.นพดล ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการชี้สถานการณ์ความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐระดับพื้นที่เป็นรายจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดของประเทศ และรายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และการลงทุน ภายใต้เครือข่ายวิชาการของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศที่มีจิตอาสามาทำงานด้านนี้ร่วมกัน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายสี่กลุ่มคือ กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด และกลุ่มนักธุรกิจต่างประเทศ โดยประเด็นสำคัญที่จะสอบถามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น 1) หน่วยงานราชการต่างๆ ในแต่ละจังหวัดเปิดโอกาส ครอบคลุมอย่างทั่วถึงมากน้อยเพียงไร ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบความโปร่งใสในงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารราชการภายในจังหวัด 2) ประชาชนทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการอิสระที่รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตคอรัปชั่นในจังหวัดของตน และน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจมากน้อยเพียงไร 3) ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ ถูกเรียกรับเงิน ผลประโยชน์ที่ไม่มีใบเสร็จให้ เช่น ขอให้ช่วยค่าน้ำค่าไฟหน่วยงานราชการต่างๆ และถูกรีดไถ เป็นต้น 4) ในแต่ละจังหวัดมีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นมากน้อยเพียงไร เช่น การขึ้นป้ายรณรงค์ต่อต้านการทุจริต การประชาสัมพันธ์คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เชื่อถือได้ 5) ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจและข้าราชการ มั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรม และมาตรการการใช้กฎหมายเอาผิดข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่นภายในจังหวัดของตนเองมากน้อยเพียงไร ส่วนระเบียบวิธีงานวิชาการโครงการนี้มีความเคร่งครัดและโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน เช่น การระดมความเห็นสร้างเครื่องมือวัดที่จะช่วยกันในทุกภาคส่วนของสังคม และการทำงานร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ และอีก 4 เดือนข้างหน้า ประมาณช่วงเดือน เมษายน จะมีการนำเสนอผลสำรวจจัดอันดับความโปร่งใสเป็นรายจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและเป็นรายหน่วยงานราชการ ทั้งนี้คณะผู้วิจัยกำลังเปิดโอกาสให้นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมช่วยสร้างแบบสอบถามโดยการส่งคำถามการวิจัยและชี้สถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่พบเห็นในจังหวัดของตนเอง มาที่ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ตู้ ป.ณ. 1009 ปณฝ. รามคำแหง กรุงเทพมหานคร 10241

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ