งานสัมมนา "การเตือนภัยเพื่อรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย"

ข่าวทั่วไป Friday December 11, 2009 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--เดอะ เวย์ คอมมิวนิเคชั่น ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและเอสเอ็มอี ม.หอการค้า คาดปี 2553 ธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มรับจ้างผลิตเพื่อส่งออก (OEM) เสี่ยงสูงสุด จับตา “เวียดนาม” มาแรง ได้เปรียบต้นทุนต่ำ พร้อมฉายภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีตลอดปียังพอโตไหว เหตุผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวรับปัจจัยเสี่ยงเก่งขึ้น คณะบริหารธุรกิจ และศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและเอสเอ็มอี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดสัมมนา “การเตือนภัยเพื่อรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย ครั้งที่ 3/2552 สัญจร และ เอสเอ็มอี จากเล็กสู่ความยิ่งใหญ่” ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณะบดีคณะบริหารธุรกิจ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและเอสเอ็มอี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในปี 2553 ยังคงมาจากปัญหาของระบบพื้นฐานทางธุรกิจที่ยังไม่มีความเข้มแข็ง ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์ ระบบการจัดการ บุคลากร รวมถึงการบริการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สามารถยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในภาวะเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออก (OEM) ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และการผลิตเครื่องจักร โดยพบว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนสูงถึง 40-50 % ของธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกอบการในประประเทศเริ่มมีการหันมารุกตลาดรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านต้นทุนมากขึ้นเสี่ยงต่อการถูกย้ายฐานการผลิต โดยปัจจุบันประเทศที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญ และคาดว่าน่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ประเทศเวียดนาม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศไทย อีกทั้งการปรับลดค่าเงินด่องลง รวมถึงระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอีก จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนให้หันเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2553 คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นด้วย ทำให้ความต้องการใช้สินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่วนสถานการณ์การเมืองภายในประเทศต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นแล้ว จึงไม่น่ากังวลมากนัก” ดร.เอกชัย กล่าว นายสุรชัย ภัทรบรรเจิด ผู้บริหารอาวุโส สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยช่วงปี 2553 คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในภาคการผลิต ภาคการบริการ และภาคการส่งออก โดยเบื้องต้นประเมินว่าธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีกิจการเพิ่มขึ้นราว 2.8 ล้านราย โดยมีการจ้างงานอยู่ที่ 9 ล้านบาท หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาทของอัตราการเจริญเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) “ต้องยอมรับว่าธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยในช่วงปี 2553 ยังมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาการเมืองที่ค่อนข้างมีผลกดดันบรรากาศการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันภายในประเทศ ภาวะโลกร้อน รวมถึงการกีดกันทางการค้า ก็ยังถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการยังคงวิตกกังวลกันในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะเริ่มปรับตัวและมีกลยุทธ์รองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุรชัย กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท เดอะ เวย์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด Tel. 02-512-5036, Fax. 02-512-5037

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ