กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--กรมสรรพสามิต
รายได้ภาษีสรรพสามิตเดือนพฤศจิกายน 2552 จัดเก็บได้กว่า 33,000 ล้านบาท เกินเป้าหมายกว่า 9,000 ล้านบาท หรือ 40.62 % ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ จัดเก็บสูงสุดสามลำดับแรก
ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายน 2552 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีได้รวม 33,594.00 ล้านบาท สูงกว่ารายได้ภาษีใน เดือนเดียวกันปีก่อน 81.84 % (ปีก่อนเก็บได้ 18,474.64 ล้านบาท) และสูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 40.62 % (ประมาณการตั้งไว้ 23,890.49 ล้านบาท)
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่าเดือนนี้รายได้ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ค่อนข้างสูง เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมัน เบียร์ ยาสูบ และสุรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 และภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการบริโภคของประชาชนและการใช้จ่ายจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะรถยนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีรายละเอียด รายได้ภาษีสินค้าสรรพสามิตที่สำคัญ ดังนี้
1. ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้ 12,279.23 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10,651.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 654.46% สาเหตุที่จัดเก็บภาษีได้ค่อนข้างสูงเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ประกอบกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อนอยู่ในช่วงลดอัตราภาษีน้ำมันตามนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย จึงเป็นผลให้รายได้ภาษีน้ำมันฯ เดือนนี้สูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนเป็นจำนวนมาก โดยภาษีน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จัดเก็บได้สูงกว่าปีก่อน 351.29% สำหรับปริมาณการเสียภาษีน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 7.53% ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลและไบโอดีเซล เพิ่มขึ้น 28.05%
2. ภาษีรถยนต์ จัดเก็บภาษีได้ 6,113.29 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,135.39 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.81% สาเหตุที่จัดเก็บภาษีรถยนต์ได้สูงเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการแข่งขันด้านการตลาด โดยเฉพาะการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อเร่งยอดขายรถยนต์ในช่วงปลายปีด้วย เห็นได้จากปริมาณการเสียภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน 11.61%
3. ภาษีเบียร์ จัดเก็บภาษีได้ 5,427.81 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,270.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.56% สาเหตุที่จัดเก็บภาษีเบียร์ได้สูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีเบียร์ตามมูลค่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 60 ของมูลค่า หรือเพิ่มขึ้น 26% นอกจากนี้ปริมาณการบริโภคเบียร์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย
4. ภาษียาสูบ จัดเก็บภาษีได้ 4,202.96 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 974.79 ล้านบาทหรือสูงขึ้น 30.20% สาเหตุที่จัดเก็บได้สูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรตจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 85 ตามมูลค่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ทำให้ภาษีต่อซองของบุหรี่ในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณซองละ 6-10 บาท และภาษีต่อซองของบุหรี่นำเข้าเพิ่มขึ้นซองละ 10-14 บาท ดังนั้นแม้ว่าปริมาณการบริโภคยาสูบจะลดลงจากปีก่อน 5.14% แต่ภาษียาสูบก็จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นถึง 30.20%
5. ภาษีสุรา จัดเก็บได้จำนวน 3,888.63 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,015.51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35.35% สาเหตุที่จัดเก็บภาษีสุราได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดและอ้อย มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคระดับรากหญ้าขยายตัวเพิ่มขึ้น เห็นได้จากภาษีสุราขาวเพิ่มขึ้น 50.92% (ปริมาณเพิ่มขึ้น 38.18%) ภาษีสุราผสมเพิ่มขึ้น 74.76% (ปริมาณเพิ่มขึ้น 63.07%)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร. 02 241 4778
Website: www.excise.go.th