ประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1 “ชีวิตสุดท้ายที่เหลือรอด” รับรางวัล ชนะเลิศ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2006 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--สสวท.
ผลการตัดสินการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1 ปี 2549 ปรากฏว่า ชีวิตสุดท้ายที่เหลือรอด LAST LIFE เขียนโดย EniGma นายพลพัชร รัตนานุกูล ได้รับรางวัลที่ 1 และรองชนะเลิศ คือ 2589 : เราเพียงผู้มาเยือน เขียนโดย นายเชตวัน เตือประโคน สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และ ชมรม นจวท. จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 นี้ โดยมี รศ.ดร. ธีรวัฒน์ มงคลอัศวรัตน์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ มาเป็นประธานในงาน ณ อาคารนานมีบุ๊คส์ ซอย สุขุมวิท 31 (สวัสดี)
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ได้ร่วมกันจัดการประกาศผลการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1
ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างนักเขียนนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ของคนไทย และส่งเสริมให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ไทยที่มีคุณภาพ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 23 เรื่อง คณะกรรมการได้ทำการตัดสินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “ชีวิตสุดท้ายที่เหลือรอด LAST LIFE” เขียนโดย EniGma นายพลพัชร รัตนานุกูล ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาทพร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศคือ เรื่อง “2589 : เราเพียงผู้มาเยือน” เขียนโดย นายเชตะวัน เตือประโคน ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล ทั้งนี้ ได้มีพิธีมอบรางวัลในวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ณ อาคารนานมีบุ๊คส์ ซอย สุขุมวิท 31 (สวัสดี) โดยมี รศ.ดร.ธีรวัฒน์ มงคลอัศวรัตน์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ มาเป็นประธานมอบรางวัล
“จันตรี ศิริบุญรอด” เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนไทยคนแรก เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจากเรียนจบ ม.8 ท่านรับราชการครูที่ลำปาง และด้วยใจรักท่านจึงได้เขียนบทความและนิยายแนววิทยาศาสตร์และใช้ชื่อลูกทั้ง 8 คน เป็นนามปากกา ในงานเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ต่อมาท่านรับเป็นบรรณาธิการ นิตยสาร วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ เป็นเวลา 8 ปี จนกระทั่งนิตยสารประสบปัญหาทางการเงินจนต้องเลิกไปในปี พ.ศ. 2505 แต่ท่านยังมิได้ย่อท้อยังอุทิศเพื่องานเขียนแนววิทยาศาสตร์มาตลอดชีวิต จวบจนท่านเสียชีวิตด้วยโรคไตพิการ ในปี พ.ศ. 2511 เมื่ออายุได้ 51 ปี ท่ามกลางงานที่ท่านรัก และงานเขียนของท่านได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจเรียนวิทยาศาสตร์และเป็นตัวอย่างให้แก่นักเขียนหลายต่อหลายท่านในปัจจุบัน จนได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งนักเขียนวิทยาศาสตร์ของไทย” ดังนั้น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จึงได้ตั้งรางวัลการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน
นายบำรุง ไตรมนตรี ประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีจิตสำนึกทางด้านวิทยาศาสตร์คือ การที่สังคมมีหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพแพร่หลายให้อ่านกันอย่างทั่วถึง ดังเช่น สมัยหนึ่งที่นักเขียนนามจันตรี ศิริบุญรอด ซึ่งเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง แต่ขณะนี้บ้านเรายังมีหนังสือดังกล่าวไม่มากนัก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีหนังสือวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จึงได้จัดให้มีการประกวดการเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรตินักเขียนเรื่องสั้นยุคบุกเลิกคนสำคัญของไทย คือ นายจันตรี ศิริบุญรอด เป็นการส่งเสริมให้มีนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพมากขึ้นในวงการตลาดหนังสือของไทย สนับสนุนให้มีนักเขียนใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์รวมทั้งให้เกียรติและยกย่องนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไทยให้ปรากฏ
ขณะนี้คณะกรรมการฯ ขอประกาศผลผู้ได้รับรางวัลจันตรี ศิริบุญรอด จำนวน 2 รางวัล คือ พลพัชร รัตนานุกูล และ เชตะวัน เตือประโคน โครงการนี้จะมีส่วนในการกระตุ้นให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนไทยมีความคิดอย่างวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพจนกลายเป็นนิสัยประจำชาติได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ