กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ตลท.
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบภายในประเทศ ทั้งปัญหาโครงการมาบตาพุดและสถานการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นเดือนก่อนหน้า จากตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 3 ที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในเดือนนี้นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะขายสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน แต่หากนับรวมทั้งปี นักลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะการซื้อสุทธิกว่า 4 หมื่นล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 27 เดือนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ในส่วนของจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มูลค่าการซื้อขายต่อบัญชีปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันของโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดือนก่อนหน้า และเป็นสถิติสูงสุดใหม่ (New High) ตามความสนใจของนักลงทุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 3/2552 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากปัจจัยเฉพาะชั่วคราวของบริษัทในกลุ่มทรัพยากรเป็นหลัก หากไม่นับรวมบริษัทในกลุ่มทรัพยากร กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอื่นยังคงขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
1.ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยเทียบกับต่างประเทศ
ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้นจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ปรับสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.56 จากสิ้นเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเป็นผลจากปัจจัยลบภายในประเทศ ทั้งปัญหาเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 3 ยังสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ของปี 2552 (Forward P/E ratio) ของไทยเทียบกับของประเทศอื่นในภูมิภาคที่อยู่ในการคำนวณดัชนี MSCI Ex. Japan ลดลง หลังจากที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ขณะที่อัตราเงินปันผลของไทยยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค
2.สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างมีความผันผวน ช่วงต้นเดือนได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดยดัชนี SET ปรับตัวขึ้นไปปิดสูงสุดของเดือนที่ 717.90 จุดในวันที่ 11 พฤศจิกายน แต่ปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 3—4 เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ดัชนี SET ปิดที่ 689.07 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปรับตัวสูงขึ้น ปิดที่ระดับ 212.01 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม
ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) โดยรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 5,547,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 จากสิ้นเดือนตุลาคม
3.ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันของ SET และ mai มีมูลค่ารวมกัน 18,954 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม 2552 ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 17,821 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันยังขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 72.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551
นอกจากนี้ แม้กลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังคงมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์สูงที่สุดคือร้อยละ 55 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด แต่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและบริษัทหลักทรัพย์มีบทบาทในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.5 ในเดือนตุลาคมเป็นร้อยละ 22.5 ของมูลค่าซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.9 ในเดือนตุลาคมเป็นร้อยละ 15.5 ของมูลค่าการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน
สำหรับสถานะการซื้อขายสุทธิ นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) และนักลงทุนต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ โดยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ 13,239 ล้านบาท หลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิติดต่อเนื่องกัน 8 เดือน อย่างไรก็ตาม หากนับรวมจากต้นปีถึงเดือนพฤศจิกายน 2552 นักลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิมูลค่า 42,483 ล้านบาท เทียบกับสถานะขายสุทธิ 162,357 ล้านบาทในปี 2551
ด้านสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า สัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจการเกษตรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การซื้อขายในกลุ่มธนาคารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลง โดยสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 34 ในเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ปรับตัวจากร้อยละ 4 ในเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ในขณะที่สัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 22 และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดจากร้อยละ 12 ในเดือนก่อนหน้าเหลือเพียงร้อยละ 7 ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายแยกตามกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) มีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก ที่มีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36 ในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 44
4.จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์
จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายภายในเดือนตุลาคม 2552 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายทั้งสิ้น 145,727 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากเดือนตุลาคม 2551 ขณะที่อัตราส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขาย (Active Rate) อยู่ที่ร้อยละ 26.1 ทั้งนี้ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีปรับลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 3.9 ล้านบาทจาก 4.0 ล้านบาทในเดือนที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2551
5.สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 Gold Futures มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุด (New High) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ด้วยปริมาณธุรกรรม 3,841 สัญญา จากความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้นตามการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำในตลาดโลก
ในเดือนนี้ ตลาดอนุพันธ์โดยรวมมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเท่ากับ 16,669 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อขาย (จำนวนสัญญา) Gold Futures ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117 จากเดือนตุลาคม ขณะที่จำนวนสัญญาซื้อขายของตราสารอื่นๆ ปรับตัวลดลง
6.ภาพรวมด้านการระดมทุน
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุน 1,042 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก ผ่านการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 2 บริษัท มูลค่ารวม 286.5 ล้านบาท คือบริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (JUBILE) และบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NBC) ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง 755.5 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) (TYONG) มูลค่า 383.1 ล้านบาท
หัวข้อพิเศษ
1.รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 3/2552
ในไตรมาส 3/2552 ผลประกอบการของของบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ดีขึ้นจากไตรมาส 3/2551 ร้อยละ 21.07 มีกำไรสุทธิ 113.2 พันล้านบาท และมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิถึง 350 บริษัท จากทั้งหมด 436 บริษัท อย่างไรก็ตาม มูลค่ากำไรสุทธิปรับลดลงจากไตรมาส 2/2552 ร้อยละ 10.38 จากผลกระทบของกลุ่มทรัพยากรเนื่องจากค่าการกลั่นที่ลดลงและกำไรในสินค้าคงคลังที่ลดลง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเสียหายในแหล่งน้ำมันของบางบริษัท ทั้งนี้ หากไม่รวมกลุ่มทรัพยากรจะทำให้มีบริษัทจดทะเบียนกลุ่มอื่นกำไรสุทธิรวม 73.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.26 จากไตรมาส 2/2552
ด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ในไตรมาส 3/2552 อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.31 เทียบกับร้อยละ 2.47 ในไตรมาส 3/2551 และลดลงเทียบกับร้อยละ 3.82 ในไตรมาส 2/2552 อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มทรัพยากร พบว่าอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในไตรมาส 3/2552 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 และไตรมาส 2/2552
เมื่อพิจารณาโครงสร้างเงินทุน พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.18 เท่า อย่างไรก็ตาม เป็นระดับที่ไม่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจปกติ (ปี 2547—2551) ที่มีระดับหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.02-1.28 เท่า ขณะที่เมื่อพิจารณาด้านสภาพคล่อง พบว่ามีสภาพคล่องดีขึ้น โดยมีกระแสเงินสดจ่ายสุทธิ 6.65 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/2552 และไตรมาส 3/2551 เนื่องจากมีกระแสเงินสดรับจากกิจกรรมการดำเนินงานเพิ่มขึ้น
ภาพรวมด้านการลงทุน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) พบว่ามีบริษัทที่ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร 343 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 91.22 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 ที่ร้อยละ 85.00 และไตรมาส 2/2552 ที่ร้อยละ 88.27 ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่สนใจลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร ทั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 93.48 พันล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวรสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62.08 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
2.ตลาดทุนไทยเตรียมขับเคลื่อน “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” หรือ Social Responsible Investment (SRI)
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” หรือ Social Responsible Investment (SRI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่ไม่เพียงแต่แสวงหาผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังให้ความสำคัญกับผลตอบแทนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์การลงทุนในลักษณะนี้จึงไม่ได้เจาะจงเพียงแค่ผลประกอบการทางการเงินของตัวธุรกิจ แต่รวมไปถึงดัชนีชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนถึงนโยบายการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวของบริษัท และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเบื้องต้น ดังนี้
จัดทำเกณฑ์การลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (SRI Guideline) เพื่อการวิเคราะห์การลงทุนที่พิจารณาดัชนีชี้วัดทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social and Governance Criteria) โดยคณะทำงานได้ร่าง SRI Guideline แล้วเสร็จ และได้นำเสนอให้คณะกรรมการ CSR Club ได้พิจารณาในเบื้องต้น และอยู่ระหว่างจัดเตรียมการทำแบบสำรวจผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ดำเนินโครงการทดลองใช้ SRI Guideline ในปี 2553 เพื่อรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนประกาศใช้จริงในลำดับถัดไป นอกจากนั้น คณะทำงานได้กำหนดแผนในการรวบรวม จัดทำข้อมูลบริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งกองทุน SRI ในอนาคต