กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--ก.ล.ต.
ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 510,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในตราสารหนี้มากที่สุด (77.1% ของ NAV) ตามด้วยเงินฝาก (11.1%) และตราสารทุน (8.8%) ในไตรมาสนี้ตราสารหนี้ภาครัฐยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนขยับเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สำหรับบริษัทจัดการที่มี NAV ภายใต้การบริหารสูงสุด ในไตรมาสนี้ ได้แก่ บลจ. ไทยพาณิชย์ โดยมี NAV ภายใต้การบริหารจัดการ 72,322 ล้านบาท ตามด้วย บลจ.กสิกรไทย (71,408 ล้านบาท) และบลจ. ทิสโก้ (66,697 ล้านบาท) ตามลำดับ โดย บลจ. ที่มี NAV ภายใต้การจัดการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ บลจ.ทหารไทย
ในไตรมาส 3/2552 มีเงินสะสม สมทบเข้ากองทุนทั้งสิ้น 14,364 ล้านบาท (เป็นเงินสะสม 45.5% และเงินสมทบ 54.5%) ลดลง 23.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มีเงินจ่ายออกจากกองทุนทั้งสิ้น 7,035 ล้านบาท (เป็นเงินจ่ายคืนให้สมาชิก 94.9% และเป็นเงินจ่ายคืนนายจ้างทั้งสิ้น 5.1% ) ลดลง 40.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อดูเหตุแห่งการจ่ายเงินคืนให้สมาชิก พบว่า 52.5% เป็นการจ่ายให้สมาชิกที่ออกจากงาน ตามด้วยสมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน 26.5% และสมาชิกที่เกษียณอายุ 12.6%
จำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 มีทั้งสิ้น 507 กองทุน ลดลง 2 กองทุนจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ 5 กองทุน (เป็น master pooled fund 1 กองทุน) ขณะที่เลิกกองทุน 7 กองทุน (เข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง 6 กองทุน และนายจ้างเลิกกิจการ 1 กองทุน) โดย 74.2% เป็นกองทุนขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านบาท และ 65.1% มีจำนวนสมาชิกกองทุนมากกว่า 500 คน เมื่อพิจารณาลักษณะกองทุนพบว่า 60.1% เป็นกองทุนหลายนายจ้าง และ 6.3% เป็นกองทุนหลายนโยบายการลงทุน (master funds) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 12 กองทุน สำหรับจำนวนนายจ้าง ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 อยู่ที่ 9,301 ราย เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนจำนวนลูกจ้างอยู่ที่ประมาณ 2.0 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 1.1%
โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2552 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนนายจ้างปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในไตรมาสที่แล้ว แต่จำนวนลูกจ้างยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามทิศทางของตัวเลขเหล่านี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ เริ่มเห็นการขยายตัวของการจัดตั้ง employee’s choice ให้แก่ลูกจ้างจากจำนวนกองทุนประเภท master fund ที่เพิ่มขึ้น