ก.พลังงานแถลงเรื่องการประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเก้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--Triple J Communication ก.พลังงาน ร่วมประชุม สหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ยัน มาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเร่งรัดประหยัดพลังงาน เป็นทางออกที่คุ้มค่าที่สุดในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน มั่นใจการลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนของไทยเนื้อหอมในเวทีโลก เตรียมชวนนักลงทุนใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีในอาเซียน นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 16 — 18 ธ.ค.นี้ กระทรวงพลังงาน จะเข้าร่วมพร้อมคณะของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCC ณ กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก เพื่อเป็นเวทีในการร่วมกันหาทางออกในการบรรเทาวิกฤตภาวะโลกร้อน ที่ขณะนี้กลายเป็นวาระแห่งโลก ที่ทุกประเทศจะต้องมีแผนชัดเจนในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตโลกร้อน โดยที่ประชุม ฯ ครั้งนี้ จะได้ร่วมกันหาข้อยุติในการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเบื้องต้นประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย อาจจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในระดับประมาณร้อยละ 15 -30 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีพันธกรณี (Business As Usual : BAU) ภายในปี 2563 หรือในอีก 11 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า หากเป็นในกรณีที่ประเทศไทยมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นการคาดการณ์กรณีที่ดีที่สุด (Best case scenario) ภายในปี 2563 ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงาน ประมาณ 400 — 450 ล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้ประเทศไทยอาจจะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงานให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 15 หรือประมาณ 60 - 70 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพลังงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในการรับผิดชอบเรื่องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เข้มข้นขึ้น และการเร่งรัดมาตรการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะภาคขนส่งให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งจะส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฟฟ้าพลังน้ำ ไฮโดรเจน รวมทั้งจะได้ประสานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการเร่งรัดงานวิจัยและพัฒนาโครงการการดักและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage — CCS) ในแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุแล้ว สำหรับพลังงานนิวเคลียร์นั้น จะเป็นศักยภาพที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายหลังปี 2563 ไปแล้ว โดยผลจากการดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ คาดว่านอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ระดับหนึ่ง และจะยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ผลิตสินค้าโดยมีต้นทุนด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon footprint) ลดลง และสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมของไทย ในการผลิตและพัฒนาสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green Products) นอกจากนี้ ภายในการประชุมที่โคเปนเฮเก้น ครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้มีโอกาสและเปลี่ยนและหารือร่วมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการเจรจากับประเทศที่สนใจ จะเข้ามาพัฒนาและร่วมลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนของไทย ตามแผนแม่บทแห่งชาติในการพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (REDP : 2008 — 2022) ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนที่มีความโดดเด่น และมีศักยภาพ อาทิ โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ