กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--Triple J Communication
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2552 เวลา 14.30 น. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดจากการสั่งระงับโครงการด้านพลังงาน โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาผลกระทบโครงการด้านพลังงานจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และหามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานกับภาคประชาชน ตลอดจนสรุปข้อเท็จจริงเพื่อเปิดเผยให้กับสังคมทราบ
จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่สั่งระงับโครงการในมาบตาพุดที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน 26 โครงการ เป็นโครงการที่ได้รับยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว 7 โครงการ และอีก 19 โครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก่อนยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงผลกระทบจากการระงับ 19 โครงการ ดังนี้
1. การขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศ จากการที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ซึ่งมีกำลังการผลิตมากกว่าหนึ่งล้านตัน/ปี ถูกสั่งระงับ โดยเกรงว่าถ้าหากไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามแนวทางการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซ LPG ในปี 2553 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ประเมินความต้องการใช้ก๊าซ LPG ของประเทศ คาดว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LPG เดือนละ 100,000 ตัน ขณะที่คลังก๊าซ LPG ที่เขาบ่อยา จ .ชลบุรี มีขีดความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ได้เพียงเดือนละ 88,000 ตัน นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องรับภาระชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 16,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนฯ ในที่สุด
2. จะเกิดการว่างงานกว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นผลจากการระงับโครงการด้านพลังงานส่งผลต่อการจ้างงานตรง 12,000 คน และทางอ้อมอีกกว่า 36,000 คน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณานโยบายในการบรรเทาผลกระทบนี้
3. ผลกระทบข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จากการระงับโครงการทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดวัตถุดิบในการผลิตและบางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุน เช่น การอำนวยความสะดวกการจัดหาวัตถุดิบ และการเจรจาผ่อนปรนแหล่งเงินกู้ เป็นต้น นอกจากนี้ การที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ถูกระงับการดำเนินการ ส่งผลให้ไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติซึ่งจะกระทบต่อค่า take or pay ประมาณ 5,900 ล้านบาทในปี 2553
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวว่ากระทรวงพลังงานได้เตรียมจัดทำมาตรการรองรับและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขบรรเทาปัญหา ดังนี้
1. มาตรการแก้ไขการขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศ โดยกระทรวงจะพิจารณา 4 มาตรการที่สำคัญ พิจารณาการสนับสนุนการนำเข้าก๊าซ LPG ให้มากกว่า 100,000 ตัน/เดือน โดยจัดทำคลังลอยน้ำในทะเล (Floating Storage) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดหา LPG ขอให้เอกชนพิจารณาโอกาสการเลื่อนการ Shut Down โรงแยกก๊าซ บางแห่ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการชดเชยการใช้ LPG โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ m การบริหารจัดการการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศ กำหนดวิธีการบริหารจัดการโดยภาครัฐสร้างแรงจูงใจให้รถแท็กซี่ เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นต้น
2. เร่งให้โครงการที่ถูกระงับดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง เมื่อการกำหนดกระบวนการและระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 67 มีความชัดเจนแล้ว กระทรวงพลังงานร่วมกับภาคเอกชนจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวในแต่ละราย
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาคเอกชนจะต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดตามมาตรา 67 ก่อนยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวในแต่ละราย ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการขาดแคลน LPG และราคา LPG ที่จะสูงขึ้นในปี 2553 กระทรวงพลังงานจะได้ดำเนินการจัดทำในรายละเอียดเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนกลุ่ม ปตท. ยืนยันเจตนารมย์ในการดูแลอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และพร้อมดำเนินการตามมาตรการที่รัฐกำหนด โดยหากภาครัฐมีกระบวนการและมีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 67 อย่างชัดเจนแล้ว ปตท. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดซึ่งคาดว่าจะสามารถลดและบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้