ผู้ประกอบการ ขานรับดีไซน์ “ล้านนาคอลเลคชั่น”

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2009 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สวทช. สวทช.—โครงการ iTAP เครือข่ายภาคเหนือ ผุดโครงการ “ล้านนาคอลเลคชั่น” จับมือผู้ประกอบการ ปราชญ์ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา นำ ว & ท หนุน งานดีไซน์ล้านนาสู่ตลาดโลก หวังเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าท้องถิ่นส่งออก ขณะที่ผู้ประกอบการ ขานรับ แนวคิดสไตล์ล้านนาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างจุดเด่นด้านเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาแต่ละยุคสมัย ชี้ ได้ประโยชน์ทั้งด้านธุรกิจและสังคม ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาไม่ให้สูญหาย ตั้งเป้า 3 ปีได้ ‘ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ’ สู่การพัฒนาประสิทธิภาพเทคโนโลยีการผลิต เมื่อเอ่ยถึง “ล้านนา” หลายคนนึกถึงศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนในท้องถิ่นทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่มีสักกี่คนที่จะรู้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาที่แท้จริงส่วนใหญ่รู้จักและพูดถึงล้านนากันแบบกว้างๆ แต่ไม่ลึกซึ้ง แม้คนท้องถิ่นล้านนาในยุคที่ต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอดอาจลืมเลือนและคุ้นชินกับสิ่งเดิมๆที่มีอยู่ จึงขาดความสนใจและไม่สามารถอธิบายถึงความเป็นล้านนาที่แท้จริงได้ ขณะที่ผู้บริโภคในตลาดโลกหันมาสนใจเรื่องของธรรมชาติ และการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมมากขึ้นทำให้ธุรกิจเริ่มสนใจนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้น การนำเอกลักษณ์ล้านนามาต่อยอดประยุกต์ใช้กับภาคเอกชน จึงต้องหาแนวทางสร้างความเป็นไปได้ทั้งด้านข้อมูลพื้นฐาน (Data Base) สำหรับการอ้างอิงเรื่องราวความเป็นมาที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสให้กับธุรกิจอื่นๆ ไม่เฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น ที่สำคัญเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นไม่ให้สูญหายและบอกเล่าความเป็นมาได้ ผศ.สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ และผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่ายภาคเหนือ เปิดเผยว่า สวทช.เครือข่ายภาคเหนือมีแนวคิดในการสนับสนุนและต้องการผลักดันเรื่องของ “ ล้านนาสไตล์ หรือ ล้านนาคอลเลคชั่น ” ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเหมือนกับที่คนทั่วโลกรู้จักสไตล์บาหลีเป็นการสานต่อแนวคิดของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะการนำความเป็นล้านนามาสู่การออกแบบ เพื่อเป็นจุดขายในรูปแบบต่างๆ ให้กับสินค้าไทยสามารถเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้าออกสู่ตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น “ ทางสวทช.เครือข่ายภาคเหนือจึงได้จัดระดมความเห็นกลุ่มย่อย ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านศิลปะล้านนา นักวิชาการ ทั้งจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา และปราชญ์ท้องถิ่น มาร่วมกันถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเหนือที่มีศักยภาพ และมีความมุ่งมั่น อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านกระเบื้อง , เซรามิกส์ , เฟอร์นิเจอร์ไม้ , ผ้า , กระดาษสา และเครื่องปั้นดินเผา เพื่อไปสู่การนำเอาศิลปะล้านนาเข้ามาประยุกต์ใช้ ผสมผสาน หรือ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีจุดเด่นด้านเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนาได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนและสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาของความเป็นล้านนาได้ ” ผศ.สุรพงษ์ รับว่า เบื้องต้นทางกลุ่มผู้ประกอบการยังไม่แน่ใจกับแนวคิดนี้ เพราะเกรงว่าจะไปส่งผลต่อกระบวนการผลิตเดิม แต่หลังจากได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนมา 2 ครั้ง คือเมื่อเดือน ต.ค.และ พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจถึงการนำมรดกทางวัฒนธรรมมารวมเข้ากับสินค้าเดิมได้อย่างไร นอกจากจะส่งผลดีต่อบริษัทแล้วยังส่งผลดีต่อภาคเหนืออย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการล้านนาคอลเลคชั่นขึ้นในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “ จากนามธรรม สู่รูปธรรม จากมรดกทางวัฒนธรรม สู่ความสุข ความมั่งคั่งและความยั่งยืน” สำหรับเป้าหมายของการจัดโครงการฯนี้ ผอ.สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตแก่ภาคเอกชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มองการออกแบบ (ดีไซน์) และการนำศิลปะวัฒนธรรมล้านนามาประยุกต์ใช้หรือการนำวัสดุมาใช้ล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น หากมีการพัฒนาหรือผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักวิจัยได้เข้าใจในเรื่องของศิลปะ และการตลาดร่วมด้วย ยิ่งสามารถให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการได้ถูกต้อง หรือ ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม การออกแบบหรือการเล่าเรื่องราวความเป็นล้านนาลงบนผลิตภัณฑ์ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ นายสังวร ลานยศ กรรมการผู้จัดการ บจก. Chiangmai Int’l Dec Ltd.,Part ผู้ผลิตและแปรรูปกระดาษสาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ยอมรับว่า การร่วมในโครงการนี้ได้ประโยชน์ทั้งทางสังคมและธุรกิจ จึงรู้สึกภูมิใจที่นำเอา “ล้านนา” มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและจะสร้างรายได้เข้าประเทศอีกจำนวนมหาศาล “ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ได้องค์ความรู้ที่ขาดหายไปกลับคืนมา เพราะปัจจุบันยอมรับว่าภาคเอกชนที่ต่างคนต่างมุ่งทำธุรกิจเพื่อการแข่งขัน การถูกบีบทางสังคมในยุคโลกภิวัฒน์ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่รอดด้วยธุรกิจจนลืมเลือนความเป็นล้านนาที่แท้จริงไป เราจึงขาดความรู้จริงเรื่องล้านนา ขาดความรู้ในเชิงลึกถึง‘รากเหง้า’ความเป็นมาของล้านนาที่ยังไม่เคยมีใครสามารถอธิบายได้ จึงต้องการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนี้มาให้ความกระจ่าง เพื่อให้เราในฐานะผู้ผลิตสามารถนำข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้ในการบอกเล่าเรื่องราว หรือ นำมาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างจุดเด่นด้านเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน และยังเป็นการสืบสานสิ่งเหล่านี้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เชื่อว่าโครงการล้านนาคอลเลคชั่นจะช่วยบ่งบอกถึงความเป็นล้านนาได้อย่างแท้จริง” นายสังวร กล่าว ด้าน รศ.วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ จากคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ทำให้เรื่องราวของล้านนากระจัดกระจาย และการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลารวบรวมองค์ความรู้ที่จะนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อการจัดหมวดหมู่ตามยุคสมัยที่ถูกต้อง ตลอดจนการแยกเรื่องราวความเป็นล้านนาที่แท้จริง จึงต้องสร้างระบบฐานข้อมูล(Data Base)ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงแก่ผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้น มีระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 - ปีงบประมาณ 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเก็บและรวมรวมข้อมูล โดยสวทช.เครือข่ายภาคเหนือให้การสนับสนุนทางด้านบุคลากรและอำนวยความสะดวกแก่คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ในการรวบรวมฐานข้อมูลและการจัดหมวดหมู่เรื่องราวล้านนา พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของล้านนาให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 7 ราย คาดว่า ปลายปีงบประมาณ 2553 จะสามารถผลิต “ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” จากการออกแบบความเป็นล้านนาลงบนผลิตภัณฑ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตในที่สุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114 ,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ