กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สนพ.
เปิดเหรียญอีกด้านของโรงไฟฟ้าที่คืนผลประโยชน์กลับสู่ชุมชนผ่านกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ระบุช่วง 2 ปีหลังก่อตั้งกองทุนฯ มีเม็ดเงินเข้าช่วยเหลือชุมชนประมาณ 4,000 ล้านบาท กระจายสู่ 73 กองทุน ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนฯ แล้วเสร็จจำนวน 73 กองทุน กระจายอยู่ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเม็ดเงินที่นำส่งเข้ากองทุนฯ ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฯ เดือนกรกฎาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2552) รวมมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ประมาณ 4,000 ล้านบาท
สำหรับกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในปี 2550 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบกับการไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไป เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่กำหนดซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อาทิ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติจัดเก็บ 1 สตางค์/หน่วย , ถ่านหิน/ลิกไนต์ 2 สตางค์/หน่วย
การจัดตั้งกองทุนฯ เป็นไปเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนในเขตที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ โดยงบประมาณจากกองทุนฯ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าทั้งการปรับปรุงด้านความเป็นอยู่อาชีพ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ดนตรี กีฬา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุขต่างๆ ตลอดจนสนับสนุน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการจัดทำผังเมืองรวมชุมชน
การดำเนินงานของกองทุนฯ จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่บริเวณที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน โดยจะมีตัวแทนประชาชนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ แต่ละแห่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์เสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนสามารถเสนอได้ทั้งในรูปแบบของบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือส่วนราชการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
“หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะพบว่า กองทุนฯ ที่เข้มแข็งดำเนินโครงการไปได้อย่างดีนั้นมีมากกว่า 80% ถึงแม้จะมีข่าวด้านลบ มีการร้องเรียนกันบ้าง แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องแก้ไข หรือเรียนรู้พัฒนากันไป เหมือนกรณีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังการผลิต 1,300 เมกะวัตต์ มีเงินเข้ากองทุนฯ แต่ละปีประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งแม้จะมีแต่ข่าวไม่ดี แต่ความจริงแล้วในกองทุนฯ ที่แม่เมาะก็มีโครงการที่ดีๆ ช่วยเหลือชุมชนได้มากหลายโครงการ” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สนพ. กล่าว
อย่างไรก็ดี กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านี้ ในอนาคตจะเข้าไปรวมอยู่ภายใต้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (เดิมกองทุนฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี) โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรคกูเลเตอร์เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างระเบียบต่างๆ เช่น การบริหารกองทุน การอนุมัติโครงการ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้เรื่องอัตราการเก็บเงินตามเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ของโรงไฟฟ้าจะคงไว้ตามเดิมตามมติ กพช. คาดว่าร่างระเบียบจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2553