เด็กไทยหัวใจอาสา เปิดบ้านค้นหา “น” สร้างมิติใหม่ สานสายใยครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2009 17:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--A Plus Entertainment เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ กำลังถูกจับตามองจากสังคมอย่างเป็นห่วงเป็นใยว่า พวกเขาจะเดินพ้นโค้งอันตรายที่มีมากมายในสังคมปัจจุบันไปได้อย่างไร และดูเหมือนว่า จะมีอยู่เพียงสิ่งเดียวในขณะนี้ที่พอจะช่วยให้พวกเขาไม่ก่อปัญหาให้กับสังคม และยังสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย นั่นคือการมีพื้นฐานครอบครัวที่แข็งแรงเท่านั้น สมาคมสายใยครอบครัว ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเด็กและเยาวชนที่มีต่อครอบครัวและต่อสังคมเป็นอย่างมาก จึงได้จัด “โครงการเปิดบ้านตามหา น” ขึ้น โดยจัดอบรมให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจและเข้าไปสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคจิตเวช ที่ในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจาก ผลสำรวจของเอแบคโพลล์พบว่าประชาชนกว่า 90% ยังมีอคติกับผู้ป่วยโรคจิตเวช อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคจิตเวช คือครอบครัวโดยตรงของผู้ป่วยซึ่งต้องแบกรับภาระหนักทั้งในการดูแลผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ต้องอยู่ในสภาพจิตใจที่โศกเศร้า ตึงเครียดยาวนาน ต้องเผชิญกับความรุนแรงในสภาวะวิกฤตของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น และต้องเผชิญแรงกดดันจากคนในสังคมที่แบ่งแยก กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย แพทย์หญิงสมรัก ชูวานิชวงศ์ นายกสมาคมสายใยครอบครัว เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน ผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนมาก และ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งเป็นโรคจิตเวชร้ายแรง 1% ของประชากรหรือ ประมาณ 600,000 คน และผู้ที่มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้แต่ไม่รู้ตัวอยู่ถึง 8-12 % หรือในราว 5-7 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก ในจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชหลายล้านคน มีเพียง 5% ที่เข้าถึงการบริการ เพราะถ้าไม่หนักจริงๆ ก็ไม่มารับการรักษา บางคนไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น บางทีครอบครัวเองก็ยอมรับไม่ได้ว่ามีคนในครอบครัวเป็น กว่าจะมาถึงมือหมอก็อาการหนักมาก ซึ่งหากครอบครัวและผู้ป่วยได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็จะสามารถรับมือกับโรคจิตเวชได้เป็นอย่างดี เราจึงมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการดำรงอยู่ของครอบครัวและสังคม โครงการเปิดบ้านตามหา น นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้สัมผัสและเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องของการเป็นผู้ให้ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ให้พวกเขาถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ อาทิ งานเขียน บทความ ภาพเขียน ละคร ” เด็กและเยาวชน จำนวน 126 คนจาก 42 ทีม ถ่ายทอดประสบการณ์การ ตามหา น ในครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช 126 ครอบครัว ถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ กัน แล้วแต่มุมมองและเรื่องราวที่ได้เข้าไปสัมผัสของ แต่ละคนแต่ละครอบครัว โดย “น” นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แทนความหมายหลายอย่างในครอบครัว เช่น น่ารัก-ครอบครัวมีความรักความอบอุ่น, น่าอยู่-ครอบครัวมีความเข้าใจกัน, หนักแน่น-ครอบครัวเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน, แน่วแน่-ครอบครัวมีความไว้ใจ ใส่ใจซึ่งกันและกัน, นุ่มนวล-ครอบครัวใช้วาจานุ่มนวลพูดคุยปรับความเข้าใจกัน นางสาวทรงพร บุตรเตี่ยม คุณครูจากโรงเรียนราชินีบน ผู้เป็นสะพานนำเรื่องราวดีดีในโครงการตามหา น มาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ที่มีจิตอาสา เปิดเผยว่า “เคยไปอบรมเกี่ยวกับโรคจิตเวชที่สมาคมสายใยครอบครัว และได้นำมาปรับใช้กับการดูแลเด็กๆ วัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เครียดง่าย จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งจากการไปอบรมทำให้พบว่าลูกศิษย์คนหนึ่งมีอาการของโรคจิตเวชในระยะแรกเริ่ม ซึ่งตอนนี้ได้พาไปพบแพทย์และได้ทำการรักษาแล้ว เราจะอธิบายทำความเข้าใจกับลูกศิษย์ที่อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นก่อนว่า การทำงานครั้งนี้ไม่ได้มีอันตรายและยังสามารถช่วยเหลือสังคม เพื่อนฝูงได้อย่างไรบ้าง” น้องลูกศร-ศรกมล ไทยภักดี จากโรงเรียนราชินีบน อายุเพียง 15 ปี กล่าวถึงความรู้สึกประทับใจในการเข้าไปสัมผัสครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชครอบครัวหนึ่ง “ครอบครัวนี้น่ารักมาก เขาเป็นทั้งคู่ มาทำการรักษาก็เลยพบรักกัน แต่งงานกัน ปัจจุบันมีลูก 1 คน อายุ 14-15 เป็นช่วงวัยรุ่นพอดี ที่น่าสนใจก็คือ ภรรยาหายดีแล้ว แต่สามียังมีอาการอยู่บ้างบางครั้ง หงุดหงิด และบางครั้งก็แต่งตัวผิดปกติ ซึ่งหากคนไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวโรคจิตเวช ก็คงจะต้องเผชิญกับภาวะเครียดมาก ที่น่าเป็นห่วงคือลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น แต่เขาก็อยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะครอบครัวมีความเข้าใจกัน” น้องอ๊ะ-อริยาภรณ์ มุ่งพูนกลาง อายุ 18 ปี จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการนนทบุรี หนึ่งในอาสาสมัครวัยทีน ที่มีความฝันอยากจะเป็นจิตแพทย์ กล่าวว่า “หนูว่าถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นตั้งแต่เริ่มต้น เข้ารับการรักษาก็จะหายเป็นปกติได้ บางคนอาจจะเป็นแล้วแต่ไม่รู้ตัว ถ้าเราได้ทำความรู้จักกับโรคจิตเวชก็จะทำให้เราสามารถช่วยแนะนำเพื่อนๆ หรือคนใกล้ตัวเราที่มีอาการเริ่มต้น ให้ไปรับการรักษา การเข้าเป็นอาสาสมัครทำให้หนูเข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวเขามากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนี้หนูว่า วัยรุ่นจะเป็นกันเยอะ และอาจจะไม่รู้ตัวก็คือ โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะความเครียดของวัยรุ่นซึ่งมีเยอะมาก ไหนจะเรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อนฝูง ก็เลยทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติก็ได้ค่ะ” อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ศิลปินต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการด้วยจิตอาสา และเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องในการทำงานศิลปะการแสดง ฝากว่า “ โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ต้องกลัวสังคมไม่ยอมรับ เพราะเป็นโรคที่เกิดได้กับทุกคน และก็รักษาให้หายได้ อย่าปล่อยให้อาการหนักมาก เพราะจะทำให้ครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ ต้องเผชิญกับภาวะเครียด และก็ทำให้ครอบครัวไม่มีความสุข ในทุกๆ ความหมาย ของตัว “น” จะเป็นสายใยที่เชื่อมต่อความรู้สึกของทุกคนในครอบครัวไว้ ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ในสังคม โครงการเปิดบ้านตามหา น เป็นเพียงก้าวแรกของการปลูกฝังจิตสำนึกให้ทุกคนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคจิตเวช โดยผ่านเด็กและเยาวชนไทยหัวใจกล้าหาญกลุ่มนี้ ต้องขอปรบมือให้กับพวกเขาครับ” ร่วมปรบมือให้กับอาสาสมัครและเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคจิตเวช ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานจะมี นิทรรศการศิลปะสร้างสรรค์ ผลงานของน้องๆ อาสาสมัครวัยทีน , ละครเวที ถ่ายทอดเรื่องราวการตามหา “น” จากน้องวัยทีน และ พี่อัษฎาวุธ เ หลืองสุนทร และ ชมมินิคอนเสิร์ตการกุศล โดยศิลปินต้นแบบ ผู้แบ่งปันเพื่อผู้อยู่กับโรคจิตเวช อาทิ ฟอร์ด สบไชย ไกรยูรเสน, วิยะดา โกมารกุล ณ นคร, เจนนิเฟอร์ คิม, นรีกระจ่าง คันธมาส เป็นต้น
แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ