กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์
ฮอนด้า และโตโยต้าคว้ารางวัล APEAL Award ค่ายละสองรางวัล ส่วนอีซูซุได้รับ 1 รางวัล
เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก เผยผลการศึกษาสมรรถนะ ระบบการทำงานและรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2552 (Automotive Performance, Execution and Layout — APEAL) พบว่า บทบาทของประสิทธิภาพเครื่องยนต์ / ระบบเกียร์สำหรับรถยนต์นั่ง และเครื่องเสียง / ระบบความบันเทิง/ระบบนำทางในกลุ่มรถกระบะ ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในมุมมองของเจ้าของรถยนต์ใหม่ในประเทศไทย ขณะที่การให้ความสำคัญต่อความประหยัดน้ำมันกลับลดลงในทุกกลุ่มตลาดรถยนต์
ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 ของการศึกษาสมรรถนะ ระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ หรือ APEAL ซึ่งใช้คำตอบของผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นเกณฑ์วัดถึงปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจที่เจ้าของรถมีต่อสมรรถนะ และการออกแบบของรถยนต์คันใหม่ของพวกเขา ในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษาได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ถึงเกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมระบบการทำงานของรถยนต์ 10 หมวด ได้แก่ ภายนอกตัวรถ ภายในตัวรถ พื้นที่เก็บของ และพื้นที่ว่าง เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง ที่นั่ง ระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) สมรรถนะในการขับขี่ เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์ ทัศนวิสัย/ ความปลอดภัยในการขับขี่ และความประหยัดน้ำมัน ผลที่ได้จากการศึกษา APEAL จะถูกใช้เป็นค่าดัชนีในการให้คะแนนโดยอิงอยู่กับจำนวนเต็ม 1,000 คะแนน และยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งหมายถึงระดับความพึงพอใจที่สูงขึ้น
สำหรับคะแนนเฉลี่ยของภาพรวมจากการศึกษา APEAL ในปี 2552 อยู่ที่ 871 คะแนน ลดลงจากปี 2551 อยู่ 5 คะแนน โดยมีถึง 7 หมวดด้วยกันที่มีระดับความพึงพอใจจากการศึกษาในปีนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว และมีแค่ 3 หมวดเท่านั้นที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นในปี 2552 ซึ่งก็คือ ความประหยัดน้ำมัน, ที่นั่ง, และระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC)
“สำหรับการศึกษาในปี 2552 นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าระดับความพึงพอใจลดลงใน 7 หมวด และเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3 หมวดเท่านั้น’ โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการประจำประเทศไทย เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก กรุงเทพ กล่าว ‘ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ในขณะเดียวกับที่คุณภาพของการผลิตรถยนต์ก็ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่จะต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างผ่านทางงานออกแบบและสมรรถนะของรถยนต์”
ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละกลุ่ม
ฮอนด้า แจ๊ซ ทำคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (Entry Midsize Car) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันโดยมีคะแนน APEAL อยู่ในระดับ 869 คะแนน ส่วนนิสสัน ทีด้า (856 คะแนน) และโตโยต้า ยาริส (851 คะแนน) ตามมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ในกลุ่มนี้
สำหรับกลุ่มตลาดรถยนต์ขนาดกลาง (Midsize Car) ฮอนด้า ซีวิคทำคะแนนสูงสุดด้วยตัวเลข 880 คะแนน ตามด้วย มาสด้า3 (878 คะแนน) และโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส (875 คะแนน)
ในกลุ่มรถยนต์ SUV (รถอเนกประสงค์กึ่งสปอร์ต) อีซูซุ มิว-7 (897 คะแนน) ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มนี้ ตามด้วยมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต (884 คะแนน)
ในกลุ่มรถกระบะมีแค็บ (Pickup Extended Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ (897 คะแนน) ติดอันดับสูงสุด ตามด้วยอีซูซุ ดีแมคซ์ สเปซแค็บ/โรดีโอ (882 คะแนน)
ในส่วนของกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู (Pickup Double Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ (897 คะแนน) ทำคะแนนสูงสุด ตามด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ (884 คะแนน)
ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์
การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เจ้าของรถกระบะและรถอเนกประสงค์ ในประเทศไทยมีระดับความพึงพอใจโดยเฉลี่ยในรถยนต์ของตัวเองมากกว่าเจ้าของรถยนต์นั่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภาพรวมของคะแนนความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถยนต์นั่งไม่สูงมากเท่ากับกลุ่มเจ้าของรถกระบะ และรถอเนกประสงค์ แต่ภาพรวมความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถยนต์นั่งมีคะแนนรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นจากการศึกษาเมื่อปี 2551 อยู่ 3 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 862 คะแนน ในขณะเดียวกันภาพรวมความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถกระบะและรถอเนกประสงค์ ในปีนี้กลับลดลงจาก ปี 2551 ถึง 6 และ 3 คะแนนตามลำดับ
“ในปี 2552 เราสังเกตได้ว่าผู้บริโภคให้ความสนใจในรถยนต์นั่งมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะว่ารถยนต์แต่ละรุ่นในกลุ่มนี้ได้รับการปรับปรุงในเรื่องความประหยัดน้ำมันของรถยนต์อย่างเห็นได้ชัด” เปอ็อง กล่าว “อย่างไรก็ตาม ระดับความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของกลุ่มรถกระบะยังคงสูงกว่าในกลุ่มของรถยนต์นั่ง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ารถกระบะยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ในเมืองไทย”
นอกจากนั้น การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่มีระดับความพึงพอใจสูงมาก (คะแนนเฉลี่ย 900 หรือมากกว่า) นั้น 81% ของบุคคลในกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาจะแนะนำรถรุ่นที่เขาซื้อให้ผู้อื่น ”อย่างแน่นอน” ต่างจากกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่มีความพึงพอใจระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งในกลุ่มนี้น้อยกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเขาจะแนะนำรถรุ่นที่เขาซื้อให้ผู้อื่น” อย่างแน่นอน”
“เพื่อรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ และให้ลูกค้าบอกต่อถึงยี่ห้อรถยนต์ที่ตัวเองกำลังใช้อยู่นั้น ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นจะต้องให้ความสนใจต่อการผลิตรถยนต์ที่มีคุณสมบัติและการออกแบบที่ให้ความพึงพอใจเกินกว่าที่เจ้าของรถยนต์ได้คาดหวังไว้เพื่อที่จะให้พวกเขาได้รับความพึงพอใจอย่างแท้จริง” เปอ็องกล่าว “ตรงนี้อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายได้ว่าทำไมเจ้าของรถยนต์ใหม่ใน ประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับระบบเครื่องเสียงและระบบนำทางเพิ่มขึ้น”
การศึกษาวิจัยเรื่องสมรรถนะ ระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2552 นี้ จัดทำขึ้นโดยทำการประเมินผลจากเจ้าของรถใหม่ จำนวน 3,518 ราย ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 การศึกษาได้ทำการสำรวจรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 58 รุ่น จากรถยนต์ 11 ยี่ห้อ และเก็บข้อมูลในภาคสนามตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงกันยายน 2552
ติดต่อเพิ่มเติม ติดต่อสื่อมวลชนสัมพันธ์
เดวิด ทูกู๊ด กรรมการผู้จัดการ บริษัท จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เลขที่ 32 ถนนสุขุมวิทซอย19 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ : 02-253-2793; david.toogood@jigsaw-communications.com
โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการประจำประเทศไทย เออาร์เอ เป็นหน่วยงานหนึ่งของ เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ตั้งอยู่ที่ อาคารคิวเฮ้าส์ อโศก ชั้น 11 เลขที่ 66 ซอยอโศก ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ : 02-264-2050; loic_pean@jdpa.com
จอห์น ทิวส์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารมวลชนสัมพันธ์ เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เลขที่ 5435 คอร์ปอเรท ไดรฟ์ ห้องชุดเลขที่ 300 ทรอย มิชิแกน 48098 สหรัฐอเมริกา โทรศัพท์ : 001 248-312-4119; john.tews@jdpa.com