กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางเร่งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อเป็นการผ่อนคลายการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือ e — auction โดยได้พิจารณาผ่อนคลายการจัดหาพัสดุด้วยระบบ e-auction ใน 3 รายการคือ งานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน การซื้อยาและเวชภัณฑ์ และการจัดซื้อจัดจ้าง IT บางประเภท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะสามารถนำเข้าเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบได้ในเดือนธันวาคม 2552
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวว่าได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางทำการศึกษาและพัฒนาระบบ e-auction ซึ่งกรมบัญชีกลางทำการศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เป็นต้น และระดมความคิดเห็นของส่วนราการและภาคเอกชน รวมทั้งธนาคารโลก โดยได้ข้อสรุปว่าการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีความเหมาะสม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำหนดระเบียบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงยังมีระบบการอุทธรณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เห็นควรมีการปรับปรุง โดยผ่อนคลายการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e — auction ใน 3 เรื่องคือ
1. งานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน และมี BOQ หลากหลายรายการในโครงการเดียวกัน เช่น โรงไฟฟ้า งานก่อสร้างรถไฟฟ้า พิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์ ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล อาคารห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
2. การซื้อยาและเวชภัณฑ์ลักษณะพิเศษ เช่น ยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดให้รายงาน เช่นยารักษามะเร็ง
3. การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าประเภทเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ Software สำหรับงานที่มีลักษณะเฉพาะที่ผู้พัฒนาต้องเข้าไปศึกษารูปแบบการทำงานหรือความต้องการของผู้ใช้
ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานที่จัดหาพัสดุ ให้สามารถเลือกใช้วิธีการจัดหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบ ข้อบังคับ ของหน่วยงาน โดยไม่ต้องใช้ระบบ e-auction
นอกจากนี้ได้พิจารณาลดค่าปรับจากการยึดหลักประกันซอง ในบางกรณี อาทิ การไม่สามารถไปยื่นซองได้ตามวัน เวลาที่กำหนด ที่เดิมจะถูกยึดเงินอยู่ที่ร้อยละ 5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่าข้อมูลชี้ว่าตั้งแต่เริ่มใช้ระบบ e-auction ในปี 2549 ถึงปัจจุบัน ระบบ e-auction ช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้เฉลี่ยร้อยละ 7 โดยได้ประหยัดงบประมาณเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้ รวมทั้งสิ้น 6.8 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่ 1กุมภาพันธ์ 2549 — 31 ตุลาคม 2552 หรือ 3 ปี 8 เดือน) อย่างไรก็ตามพบว่ายังต้องมีการปรับปรุง ซึ่งขณะนี้ได้พิจารณาผ่อนปรนการใช้ e-auction สำหรับ 3 รายการคือ 1) งานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน และมี BOQ หลากหลายรายการในโครงการเดียวกัน 2) การซื้อยาและเวชภัณฑ์ และ 3) การจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับระบบ IT บางประเภท ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานในการยกเว้นการใช้ e-auction
กรมบัญชีกลาง
สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
โทร. 0-2273-9078