กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 53 จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งวิกฤติมาบตาพุด วิกฤติหนี้สินดูไบและเวียดนามลดค่าเงิน คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิตปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 เดิม 2-3% ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 — 2.2% จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมผ่านทางการชะลอตัวของภาคลงทุน การจ้างงาน ภาคการค้าระหว่างประเทศและภาคการผลิต ผลกระทบจากวิกฤติมาบตาพุดส่งผลรุนแรงที่สุดต่อการลงทุนและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการจ้างงาน ประเมินเบื้องต้นมีผลกระทบอย่างน้อย 6 ด้าน กรณีที่สถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้การจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมลดลงไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ขั้นต้นจะว่างงานทันทีประมาณ 40,000-60,000 คน โดยจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์จากการชะลอตัวของการนำเข้าเพื่อการผลิต สร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อประสานเข้ากับการลดค่าเงินของบางประเทศในเอเชียจะทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจร์และธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 เดิม 2-3% ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 — 2.2% จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมผ่านทางการชะลอตัวของภาคลงทุน การจ้างงาน ภาคการค้าระหว่างประเทศและภาคการผลิต สามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ วิกฤติมาบตาพุด วิกฤติหนี้สินดูไบและการลดค่าเงินจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง 0.8% (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากตารางด้านล่าง) มูลค่าเสียหายเบื้องต้นประมาณ 71,959 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่า กรณีมาบตาพุดมีความยืดเยื้อหรือแค่ไหน วิธีการแก้ปัญหาจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอย่างมีนัยยสำคัญ
ผลกระทบเศรษฐกิจไทยจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยง ความเสียหายคิดเป็น% Growth ของ GDP ปี 53 มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น (ล้านบาท) GDP Growth
ปี2553
วิกฤติหนี้สินดูไบ+ เวียดนามลดค่าเงิน + การขยายตัวเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดการณ์ 0.3 26,985 1.7 — 2.7%
วิกฤติมาบตาพุด 0.5 44,975 1.5 — 2.5%
ผลรวม 0.8 71,959 1.2 — 2.2%
ประเมินผลกระทบกรณีมาบตาพุดอย่างน้อย 6 ด้าน
ประเมินผลกระทบเกิดขึ้นอย่างน้อย 6 ด้าน จากกรณีวิกฤติมาบตาพุด เริ่มตั้งแต่
1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจอุตสาหกรรมต่อระบบการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักของไทย
2 ผลกระทบด้านภาคการผลิตและอุปทานเกิดการขาดแคลนและชะงักงันในการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น ก๊าซ LPG วัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นต้น
3 ผลกระทบด้านอุปสงค์ผ่านทางการลงทุน การส่งออก การจ้างงาน และการบริโภค
4 ผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลและการจัดเก็บรายได้
5 ผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก
6 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินและตลาดทุน (บริษัทจดทะเบียนที่ถูกระงับโครงการ)
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากวิกฤติมาบตาพุดส่งผลรุนแรงที่สุดต่อการลงทุนและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการจ้างงาน กรณีที่สถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้การจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมลดลงไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ขั้นต้นจะว่างงานทันทีประมาณ 40,000-60,000 คน โดยจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์จากการชะลอตัวของการนำเข้าเพื่อการผลิต สร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อประสานเข้ากับการลดค่าเงินของบางประเทศในเอเชียจะทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง
ขณะที่วิกฤติการณ์หนี้สินดูไบบรรเทาลงจากการเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาลกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรต ผลกระทบของวิกฤตการณ์หนี้สินของ Dubai ผ่านภาคการเงินโดยตรง (Financial Impacts) ต่อไทยอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Exposure กับกลุ่ม Dubai World และมีการลงทุนในตะวันออกกลางน้อยมาก นอกจากนี้ ฐานะการเงินของสถาบันการเงินไทยยังเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามตลาดทุนตลาดเงินไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนบ้าง ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impacts) ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวก็อยู่ในวงจำกัด เช่นกัน เพราะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยและรัฐดูไบคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมจะมีต่อภาคส่งออกค่อนข้างมาก เนื่องจาก วิกฤติหนี้สินดูไบส่งผลกระทบต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจในประเทศยุโรปบางประเทศและญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลักของสินค้าส่งออกไทย
ดร. อนุสรณ์ กล่าวเตือนให้ภาครัฐและเอกชนดูแลกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมี 10 ประเภทกิจการที่ต้องดูแลเป็นพิเศษและควรมีมาตรการป้องกันและผลศึกษาอย่างชัดเจนก่อนดำเนินโครงการเพื่อไม่ให้เกิดปํญหาเช่นเดียวกับ 65 โครงการในมาบตาพุด และ 10 ประเภทกิจการอาจเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองได้ ดูรายละเอียด 10 ประเภทกิจการจากตารางด้านล่าง
10 ประเภทกิจการกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีมาตรการป้องกันและศึกษาผลกระทบก่อน
ลำดับ ร่างประเภทโครงการ เหตุผล
1 การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกเขตชายฝั่งเดิม อยู่ในพื้นที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่รวมการฟื้นฟูสภาพชายหาด
2 เหมืองแร่โลหะทุกชนิด การใช้ประโยชน์ที่ดิน น้ำใต้ดิน การระบายน้ำ การแร่ ฝุ่นละออง
3 นิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเคมี คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ โลหะหนัก
4 โรงงานปิโตรเคมี เฉพาะชั้นต้นหรือชั้นกลาง คุณภาพอากาศ
คุณภาพน้ำ
โลหะหนัก
5 โรงงานถลุงหรือหลอมโลหะ รวมเหล็กหรือเหล็กกล้า คุณภาพอากาศ— น้ำ
โลหะหนัก
6 การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี กากกัมมันตรังสี
การขนส่ง เสี่ยงอุบัติเหตุ
7 โรงไฟฟ้าทุกประเภท ขนาดกำลังผลิต1000 เมกะวัตต์ขึ้นไป คุณภาพอากาศ น้ำ เสี่ยงอุบัติเหตุ
8 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด กากนิวเคลียร์
9 การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวข้องกับGM (Genetically Modified) GM หรือตัดแปลงพันธุกรรม โดยใช้เทคนิคการตัดต่อยีนทางพันธุวิศวกรรม กระทบสิ่งแวดล้อม ดินน้ำ และอาจกระทบสุขภาพอนามัย
10 สนามกอล์ฟ ตั้งแต่18 หลุมมาตรฐานขึ้นไป การใช้น้ำจำนวนมาก การตกค้างสารเคมีและเพิ่มภาวะโลกร้อน
ปัจจัยเรื่องวิกฤติหนี้สินดูไบ และการลดค่าเงินของเวียตนามแม้นจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่รัฐบาลไม่อาจควบคุมได้ แต่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถมีมาตรการรองรับผลกระทบได้ ขณะที่กรณีมาบตาพุดรัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจนและความรวดเร็วในกระบวนการปลดการระงับโครงการ 65 โครงการโดยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2
นอกจากนี้ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ยังเสนอแนะอีกว่ารัฐบาลและภาคเอกชนควรทำงานในเชิงรุก โดยการสำรวจโครงการอุตสาหกรรมหนักทั้งหลายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หากยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและชุมชนให้รีบดำเนินการโดยด่วน
สำหรับมาตรการเฉพาะหน้าในการรับมือกับผลกระทบกรณีมาบตาพุดควรมุ่งดูแลผลกระทบต่อผู้ที่จะถูกเลิกจ้างทันที 40,000 — 60,000 คน และผลกระทบต่อเนื่องจากการว่างงานดังกล่าว โดยใช้เม็ดเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่สอง อีกเรื่องหนึ่งคือผลกระทบลูกโซ่ที่มีต่ออุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ต้องมีมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหาให้ดี
ดร.อนุสรณ์ เสนอว่ารัฐบาลควรอัดฉีดงบประมาณการใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปแม้นปีหน้าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันทางด้านตันทุนและ Supply Shocks มากกว่า ทางด้านอุปสงค์
รวมทั้งควรมีการบริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อประคองการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการที่หลายประเทศรวมทั้งเวียดนามทยอยลดค่าเงิน
ดร.อนุสรณ์ ได้เสนอทางออกของปัญหาวิกฤติมาบตาพุดว่า รัฐบาลควรจะจัดสรรเวลาในการศึกษาความเสียหายอย่างรอบด้าน จากการระงับการก่อสร้าง 65 โครงการและการก่อมลพิษของโรงงานเดิม ที่กำลังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยไม่นั่งรอรายงานจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
สถานการณการระงับการก่อสร้าง 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ควรจะถือเป็น “วิกฤติของชาติ” ที่รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้กลไกของหน่วยงานราชการแก้ไขไปอย่างไม่มีเป้าหมายว่าจะหาทางออกได้เมื่อไรและอย่างไร กฏกติกาที่เข้มงวดมากขึ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศในระยะยาวแต่ในระหว่างรอยต่อของการบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญหากไม่จัดการให้ดีจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และอาจลามถึง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อระบบของประเทศไทยในระยะยาวได้หากไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้กระทั่งการแต่งตั้งอดีตนายกฯ อานันท์ ให้เป็นประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็ไม่ควรจะถือเป็นข้อแก้ตัวให้รอผลการประชุมของคณะกรรมกการ รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขวิกฤติให้บรรเทาชั่วคราว อาทิเช่น การออกพระราชกำหนดแต่งตั้งองค์กรอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ฯลฯ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาก่อน