กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ไอบีเอ็ม
เทคโนโลยีอันเหนือชั้นของไอบีเอ็ม ช่วยรัฐบาลอียิปต์จัดทำหอจดหมายเหตุรูปแบบดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประวัติศาสตร์หลายพันปีของอียิปต์และชนชาติอาหรับ
ดร. อาห์เหม็ด นาซีฟ นายกรัฐมนตรีของประเทศอียิปต์ เปิดตัวโครงการระดับชาติที่จัดทำเอกสารดิจิตอลขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์ (National Archives of Egypt - NAE) ด้วยการสนับสนุนจากเทคโนโลยีและโซลูชันระดับโลกจากไอบีเอ็ม
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์มรดกอันทรงคุณค่าที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์ และนับเป็นหนึ่งในโครงการจัดทำหอจดหมายเหตุรูปแบบดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครอบคลุมเอกสารและบันทึกต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมอียิปต์โบราณและชนชาติอาหรับกว่า 25 ล้านรายการ รวมถึงเอกสารกว่า 90 ล้านชุด
โครงการนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม โดยหอสมุดและหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์เป็นผู้ดำเนินการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีศูนย์เอกสารด้านวัฒนธรรมและมรดกแห่งชาติเป็นตัวแทนการดำเนินการ
นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังให้ความช่วยเหลือในการสร้างเว็บไซต์อย่างเป็นทางการสำหรับหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์ ซึ่งรองรับการเข้าถึงจดหมายเหตุต่างๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยจดหมายเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ เว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือค้นหาหรือเสิร์ชเอนจิ้น (Search Engine) ที่ทรงพลัง ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการศึกษาสำหรับนักประวัติศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลก นอกจากนั้นแล้ว เว็บไซต์ดังกล่าวยังมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการสัมมนาต่าง ๆ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์จัดขึ้นอีกด้วย
ดร. ทาเร็ก คาเมล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอียิปต์ กล่าวว่า “นี่คือโครงการสำคัญที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลและเนื้อหาที่เป็นภาษาอาหรับได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จากสถิติในปัจจุบันพบว่าการนำเสนอข้อมูลจากโลกอาหรับผ่านทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังมีน้อยและไม่สะท้อนกับสภาพความเป็นจริงที่ปริมาณข้อมูลมีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเกี่ยงโยงถึงความเก่าแก่ยาวนานทางประวัติศาสตร์ หรือความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาติอาหรับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนการเข้าใช้ห้องวิจัยของหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงไคโร ในอดีต ห้องวิจัยแห่งนี้ต้องพึ่งพากระบวนการที่ใช้เอกสารในรูปแบบของกระดาษเป็นหลักสำหรับการจัดทำดัชนีและการยืมเอกสารจดหมายเหตุ แต่ห้องวิจัยที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ มีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ 56 เครื่องมาใช้งาน ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ขั้นตอนในการเข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ยังมีการปรับปรุงให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสามารถค้นหาเอกสารและแฟ้มต่างๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยเวลาไม่ถึง 10 นาที แทนที่ต้องใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับกิจกรรมดังกล่าว เช่นในอดีต
นายอัมร์ โกไนม์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม อียิปต์ กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติและได้รับความไว้วางใจในการเข้าร่วมในโครงการสำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ อีกทั้งได้มีบทบาทในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหนือชั้นเพื่อเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้มีโอกาสเข้าถึง ศึกษา และได้รับประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของอียิปต์”
นอกเหนือไปจากประโยชน์ที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีในโครงการนี้แล้ว ด้วยขนาดและความซับซ้อนของโครงการยังช่วยให้มีการสร้างงานในประเทศอียิปต์อีกกว่า 2,000 อัตราด้วย
ในส่วนของการทำงานในโครงการดังกล่าว ไอบีเอ็มต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย เช่น:
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแปลงเอกสารเก่าแก่โบราณและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เป็นรูปแบบดิจิตอล รวมทั้งการจัดทำดัชนีสำหรับแฟ้มเอกสารต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุฯ ต้องผ่านการฝึกอบรมในด้านการดึงคำอธิบายข้อมูลหรือเมตาดาต้า (Metadata) สำคัญๆ จากเอกสาร เช่น ชื่อเรื่อง หัวข้อ คำหลัก ผู้เขียน และวันที่ เป็นต้น โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้โดยใช้เทคโนโลยีเสียงดิจิตอล ก่อนที่จะถูกแปลงเป็นข้อความเพื่อเพิ่มความสะดวกในการจัดทำดัชนีและการค้นหาทางระบบออนไลน์
การสร้างห้องปฏิบัติการสำหรับการสแกนเอกสารดิจิตอลภายในหอจดหมายเหตุฯ ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถสแกนเอกสารที่มีความละเอียดสูง 10 ล้านชุดให้เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี โดยใช้แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษโดยไอบีเอ็มเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ
การรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพื่อป้องกันการคัดลอกและบิดเบือน ด้วยการใช้เทคโนโลยีลายน้ำแบบดิจิตอล (digital watermark technology)
การสร้างรูปแบบ ขั้นตอนและกระบวนการการทำงานที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการควบคุมคุณภาพสูงสุดของการทำงานในทุกขั้นตอน
ในส่วนของการใช้เทคโนโลยีและบริการอันหลากหลายของไอบีเอ็มเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ได้แก่
เซิร์ฟเวอร์ ซิสเต็ม เอ็กซ์ (System x) 4 เครื่อง และระบบเทปสตอเรจ อันทรงพลังของไอบีเอ็มเพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้แก่โครงการฯ
ซอฟต์แวร์อันทรงพลังมากมาย ได้แก่ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ไอบีเอ็ม ดีบีทู (IBM DB2), คอนเท็นต์ แมเนจเมนท์ (Content Management), เว็บสเฟียร์ (WebSphere) และทิโวลี สตอเรจ แมเนเจอร์ (Tivoli Storage Manager)
บริการหลากหลายรูปแบบของไอบีเอ็ม ไม่ว่าจะเป็นบริการให้คำปรึกษา การบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในส่วนงานต่าง ๆ รวมไปถึงการบำรุงรักษาระบบ เป็นต้น
ไอบีเอ็มและรัฐบาลอียิปต์ได้ลงนามในข้อตกลงของโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 โดยโครงการฯได้ดำเนินมาตั้งแต่นั้นจนสำเร็จเสร็จสิ้นในปัจจุบัน ในระหว่างที่ดำเนินโครงการดังกล่าวนี้เอง ไอบีเอ็มได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัท Allied Soft และ SI (System Integrator) พันธมิตรที่สำคัญของไอบีเอ็มในประเทศอียิปต์
ตัวอย่างเอกสารและบันทึกที่สำคัญ ๆ ที่มีการจัดเก็บในหอจดหมายเหตุแห่งชาติอียิปต์และสามารถเข้าถึงผ่านเว็บไซต์ของโครงการดังกล่าว ได้แก่
เอกสารที่เป็นหลักฐานบันทึกการหย่าร้าง ลงวันที่ 22 กรกฏาคม ค.ศ. 934 โดยระบบศาล (Old Masr Court) ในสมัยโบราณ
สนธิสัญญาข้อตกลงเรื่องการห้ามค้าทาสโดยรัฐบาลอังกฤษและอียิปต์ ค.ศ. 1877
เอกสารและหลักฐานโบราณตั้งแต่ยุคออตโตมัน ที่แสดงถึงระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวอียิปต์ในอดีต เป็นต้น
นอกเหนือจากโครงการฯนี้ ที่ผ่านมาไอบีเอ็มยังเคยร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐบาลอียิปต์เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและมีโอกาสศึกษาข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่รวมทั้งอารยธรรมโบราณของอียิปต์ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น โครงการ Eternal Egypt (www.eternalegypt.org) และ Egypt Memory (www.egyptmemory.com) เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ดังกล่าวหรือเกี่ยวกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอียิปต์ และดาวน์โหลดรูปภาพต่าง ๆ สามารถเข้าไปที่ www.nationalarchives.gov.eg
เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์ : 02 273 4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com