กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ศูนย์หนังสือจุฬาฯ
สถาบันครอบครัวนั้นนับว่าเป็นหน่วยของสังคมที่สำคัญอย่างมากในการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือการอบรมบ่นเพาะให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า และด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวโครงการ "หนังสือมือแม่ทำ หนังสือมือพ่อทำ" และโครงการ "หนังสือมือปู่ ย่า ตา ยายทำ" จึงเกิดขึ้น
สำหรับโครงการประกวดหนังสือมือแม่ทำพ่อทำนั้นได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว เพราะหลังจากการจัดกิจกรรมในครั้งแรกสิ้นสุดลง ได้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายให้มีโครงการแบบนี้ขึ้นบ้าง และในปีนี้โครงการหนังสือมือปู่ ย่า ตา ยายทำ ก็ได้เกิดขึ้นอย่างสวยงามไม่แพ้กัน โดยทั้งสองโครงการมีการตอบรับที่ดี มีผู้สนใจส่งผลงานมามากมาย ด้วยความปรารถนาที่จะให้ลูกหลานได้มีหนังสือดีน่าอ่านเล่มแรกในชีวิต และมาจากสองมือของคนในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่น
ผลงานชื่อ "หนูชอบสีอะไร" ของครอบครัวยินดีสุข เป็นตัวอย่างผลงานที่ทำเองได้ง่ายๆ ซึ่งคุณแม่อุไร ยินดีสุข รูปแบบเหมือนหนังสือทั่วไป แต่พิเศษตรงวัสดุที่ใช้เป็นผ้า ซึ่งปลอดภัยสำหรับเด็ก และนำผลงานชิ้นนั้นไปสอนให้ลูกรู้จักสิ่งแวดล้อมใกล้ๆ ตัว พร้อมกับเรียนรู้เรื่องสีเป็นบทเรียนแรกในชีวิตของลูกน้อย หรือแม้แต่ผู้ชนะเลิศโครงการหนังสือมือปู่ ย่า ตา ยายทำ ในปีนี้ คุณย่านลิน บุญธรรม กับผลงานที่มีชื่อว่า ดวงใจของต้นข้าว
"วัสดุที่ใช้ทำมาจากผ้า มีกระพรวนน้อยเรียกความสนใจของเด็ก ข้างในจะเป็นรูปภาพ พร้อมคำคล้องจอง สอนเด็กเรื่องของความรัก แรงบันดาลใจก็มาจากเด็กๆ ซึ่งเขาก็จะมีความรักความประทับใจในเรื่องใกล้ๆ ตัว ซึ่งความรักนั้นก็แทนได้ด้วยหัวใจ ด้วยคำว่าใจ การทำหนังสือเป็นรูปหัวใจก็จะช่วยสอนให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมๆ กับอธิบายว่าใจคืออะไร หลังจากทำเสร็จแล้วก็เอาไปให้น้องต้นข้าวดู น้องเขาเป็นเด็กไม่ค่อยพูดนะ แต่พอเค้าเห็นเขาก็ยิ้มก็หัวเราะ นั่นแสดงว่าเขาชอบเขามีความสุข"
นางพรอนงค์ นิยมค้า เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการนี้ เพราะการอ่านหนังสือจะช่วยให้เด็กฉลาด อีกทั้งโครงการยังมุ่งสานสายใยสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ให้พ่อแม่ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือที่สร้างสรรค์และกลั่นมาจากความรักความปรารถนาดี ภายใต้กิจกรรมที่แต่ละคนสามารถทำร่วมกันได้ในยามว่าง
ด้านกรรมการตัดสินผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวงวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอย่าง รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า ถือเป็นการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ของโครงการที่ต้องการให้ผู้ปกครองซึ่งในครอบครัวมีลูกหลานวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบได้คิดและทำหนังสือเล่มแรกให้แก่พวกเขาเหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานนิสัยรักการอ่านแก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัย
"ในการตัดสินครั้งนี้คณะกรรมการได้เน้นเรื่องของผลงานที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับเด็กในวัยนี้ หากวัสดุใดที่เป็นอันตรายต่อเด็กทางคณะกรรมการก็จะทำการคัดออก แต่ว่าผลงานเหล่านั้นไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะทุกงานต้องขอชมเลยว่าผู้ปกครองเขาตั้งใจจริงๆ เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับวัยของเด็กเล็ก" รศ.กุลวรา กล่าวเพิ่มเติม
ด้านตัวแทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งขนขบวนมาร่วมตัดสินต่างชื่นชมในผลงานแต่ละชิ้นของผู้เข้าประกวดเช่นกัน
"เป็นครั้งแรกที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีโอกาสจับมือกับทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ แล้วก็เกิดความประทับใจในตัวโครงการ ยิ่งได้เห็นผลงานแต่ละชิ้นที่ส่งเข้ามา บอกได้เลยว่าคณะกรรมการตัดสินใจได้ยากมาก วันหนึ่งที่เด็กๆ เหล่านี้โตขึ้น เขาเห็นหนังสือที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำให้เมื่อครั้งที่เขายังเล็ก เชื่อได้เลยว่าเขาจะต้องภาคภูมิใจ" นางสุพรศรี สะสมบุญ ผู้อำนวยการกองอำนวยการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
สำหรับผลการตัดสินโครงการประกวดหนังสือมือแม่ทำ หนังสือมือพ่อทำไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศมี 2 รางวัล ได้รับเงินสด 7,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อหนูชอบสีอะไร ของคุณแม่อุไร ยินดีสุข และผลงานชื่อนุ่มนิ่มกับตัวเรขาคณิต ของคุณแม่โสภา ศรีตองอ่อน รางวัลชดเชย 4 รางวัล ได้รับเงินสด 5,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ผลงานชื่อเด็กน้อยคอยนับ ของคุณแม่นภาพร สันติมิตร ผลงานชื่อฟังแม่อ่าน ของคุณแม่อุไร ยินดีสุข ผลงานชื่อตัวอะไรในป่า ของคุณแม่กานดา เชิญศรีกุล และผลงานชื่อในสวนหลังบ้าน ของคุณพ่อวิริยะ ก้อนทอง
ส่วนผลการตัดสินโครงการประกวดหนังสือมือปู่ ย่า ตา ยายทำ รางวัลชนะเลิศ เงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อดวงใจของต้นข้าว ของคุณย่านลิน บุญธรรม รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้รับเงินสด 7,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อความรักของผม ของคุณย่าเยาวพา จันทิมา และผลงานชื่อหนูทำได้ ของคุญย่าศจี โรจนอุดมวุฒิกุล และผู้ที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกชิ้นยังได้รับรางวัลส่งเสริมกำลังใจท่านละ 1,000 บาท อีกด้วย
ทั้งหมดเป็นความร่วมมือจากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์กับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก และผลงานทั้งหมดถูกนำไปจัดนิทรรศการในงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4 บูธของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในวันที่ 6-11 กรกฎาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนจะนำส่งคืนเจ้าของผลงานต่อไป และจะมีการมอบรางวัลอย่างเป็นทางการโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในวันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 11.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2218-9893-5 หรือ www.chulabook.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ
โทร. 0-2218-9893-5