กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ. จดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทดสอบคุณภาพไบโอดีเซล โดยใช้เตาไมโครเวฟ ชี้ข้อดี ต้นทุนต่ำ เร็ว และวิธีการทดสอบง่าย รู้ผลภายใน 15 นาที แถมช่วยลดต้นทุนการทดสอบคุณภาพไบโอดีเซลให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ
รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร ผู้อำนวยการสถานวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรวิธีการทดสอบคุณภาพไบโอดีเซลโดยใช้ไมโครเวฟ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า “กระบวนการทดสอบแบบกะประมาณของปริมาณกลีเซอไรด์โดยกระบวนการทรานส์เอสเตอริฟิเคชั่นด้วยเตาไมโครเวฟ” โดยเป็นการทำไบโอดีเซลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ใช้เวลาสั้นและด้วยปริมาณน้อย และใช้อุปกรณ์ทดสอบคือเตาไมโครเวฟที่ใช้กันในครัวทั่วไป
“โดยทั่วไป กระบวนการวัดคุณภาพของน้ำมันโดยการทดสอบกลีเซอไรด์ในไบโอดีเซลมีหลายวิธี แต่วิธีที่ได้คิดค้นขึ้นนี้เป็นกระบวนการที่ง่าย เร็ว และมีราคาถูก ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตไบโอดีเซลที่เป็นผู้ผลิตระดับกลางและระดับเล็ก มักใช้วิธีการทดสอบคุณภาพด้วยการดูด้วยตา สัมผัสด้วยมือ ว่ามีความใสพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสามารถนำผลผลิตไปทดสอบคุณภาพด้วยวิธีการที่ซับซ้อนกว่า โดยส่งไปทดสอบที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงประมาณครั้งละ 6,000 บาท และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน ซึ่งล่าช้าเกินไป เพราะผู้ผลิตไบโอดีเซลในระดับไม่เกิน 1,000 ลิตร จะไม่สามารถรอได้ แต่ในกระบวนการที่ได้คิดค้นขึ้นนี้จะใช้เวลาทดสอบเพียง 15 นาที และมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าสารเคมีในราคาไม่เกิน 5 บาทเท่านั้น” รศ.ดร.ชาคริตกล่าว
ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบโดยวิธีดังกล่าว จะเริ่มจากการนำไบโอดีเซลที่ผลิตแล้ว มาเติมสารละลายเมทานอล และตัวเร่งปฏิกริยาในสัดส่วนที่กำหนด แล้วเขย่าให้ส่วนผสมเข้ากัน จากนั้น นำเข้าให้ความร้อนในเตาไมโครเวฟใช้เวลาประมาณนาทีครึ่ง เพื่อดูว่ามีกลีเซอรอลเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งการทดสอบจะทำในหลอดแก้วกรวยแหลมซึ่งมีขีดวัดปริมาตรที่ค่อนข้างละเอียด ถ้ามีกลีเซอรอลเกิดขึ้นแสดงว่าไบโอดีเซลยังมีคุณภาพไม่ดี เนื่องจากยังมีส่วนผสมที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลเหลืออยู่อีก โดยทั้งกระบวนการจะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 15 นาทีก็ทราบผล อย่างไรก็ตาม ส่วนผสม ความร้อน และเวลาที่ใช้ในการทดสอบต้องอยู่ในช่วงที่ชัดเจนแม่นยำ ดังนั้น จึงต้องมีการปรึกษานักวิชาการที่เกี่ยวข้องถึงรายละเอียดดังกล่าว
สำหรับการที่ใช้เตาไมโครเวฟเป็นอุปกรณ์ให้ความร้อน เนื่องจากกระบวนการของไมโครเวฟเป็นการส่งคลื่นวิทยุไปสั่นสะเทือนโมเลกุลของน้ำในไบโอดีเซล ทำให้เกิดปฏิกิริยากระตุ้นต่อกับแอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเริ่มต้นการทดสอบด้วยวิธีนี้ คือเตาไมโครเวฟแต่ละยี่ห้อมีกำลังไฟฟ้าและความร้อนไม่เท่ากัน จึงต้องมีการปรับให้สามารถใช้ตามกระบวนการนี้ได้ด้วยระยะเวลา และความแรงที่พอเหมาะ
“ที่จริงคุณภาพของไบโอดีเซลยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น เปอร์เซ็นต์ของน้ำและความสะอาด ซึ่งโดยมาตรฐานของไทย ไบโอดีเซลที่ใช้ผสมเป็น บี 5 หรือ บี 2 มีตัววัดคุณภาพ 23 ข้อ แต่กระบวนการที่คิดค้นขึ้นจะเป็นตัววัดเพียงข้อเดียวและไม่เป็นทางการ แต่ถ้าผู้ผลิตใบโอดีเซลในชุมชนใช้กระบวนการนี้เป็นตัววัดคุณภาพน้ำมันที่ผลิตออกมาจะสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าจะนำไปใช้หรือขายได้หรือไม่ เช่น ถ้าคุณภาพไม่ดีก็จะต้องทำซ้ำ หรือปรับให้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งหลังจากได้รับสิทธิบัตรก็เชื่อว่า จะทำให้ผู้ที่ทำการทดสอบด้วยวิธีนี้มีความมั่นใจมากขึ้น” รศ.ดร.ชาคริตกล่าว
ผู้อำนวยการสถานวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน ม.อ. ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาก็ได้มีการให้ความรู้กับผู้สนใจตั้งแต่ก่อนมีการจดอนุสิทธิบัตรมาบ้างแล้ว เช่น ในที่ประชุมเครือข่ายไบโอดีเซล ทั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยหวังว่าผู้ผลิตที่มีทุนไม่มากนักจะสามารถนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์ เพื่อจะได้ผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ และจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศต่อไป
เผยแพร่ภาพข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
: พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com