โครงการจุฬาฯ บ้านนี้มีสุข เสริมพลังนิสิตให้คิดเพื่อสุขภาวะ

ข่าวทั่วไป Thursday December 17, 2009 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้ที่ห้องประชุม อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้ด้าน Empowerment (การเสริมพลัง) โดย พญ.ภรณี เหล่าอิทธิ ผู้รับผิดชอบโครงการพลังจุฬาฯ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นโครงการย่อยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จนก่อเกิดเป็นแนวคิดโครงการ “บ้านนี้มีสุข” ขึ้น การจัดอบรมครั้งนี้เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้นิสิตนำโครงการกิจกรรมเดิมที่เคยคิดไว้มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพรอบด้านมากขึ้น และเมื่อผู้คิดโครงการสามารถคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดต่อผู้เข้าร่วมโครงการในอนาคตได้อย่างดีเช่นกัน ซึ่งในงานนี้ทาง สสส. ได้เตรียมงบประมาณให้แก่นิสิตที่มีโครงการดีๆ เกือบสองล้านบาทเลยทีเดียว สำหรับที่มาของโครงการบ้านนี้มีสุขนั้น รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวถึงความสำคัญของการดูแลให้สังคมของมหาวิทยาลัยมีสุขภาวะที่ดี ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นเสาหลักของแผ่นดิน ในขณะที่ต้องการเป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับคนดีและคนเก่ง ทำให้ การดูแลของบุคลากร นิสิตและผู้ที่อยู่อาศัย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรอบมหาวิทยาลัยให้มีสุขภาวะที่ดี ขณะเดียวกันต้องการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่นิสิต บุคลากร ผู้ที่เกี่ยวข้อง ชุมชนโดยรอบและสังคม ให้มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของตนเองได้ “หรือพูดง่ายว่า โครงการ “บ้านนี้มีสุข” เป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาทั้งภายนอกภายใน คือทั้งระดับกายภาพ พัฒนาทั้งชุมชนในมหาวิทยาลัยรวมไปถึงชุมชนรอบๆ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาทั้งภายนอกในแง่ของการพัฒนาสุขภาพกายให้มีร่างกายที่แข็งแรง รวมไปถึงสุขภาพภายในอย่างสุขภาพใจก็จะแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว ส่วนโครงการย่อย อย่าง โครงการพลังจุฬาฯ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ได้เข้ามาตอบโจทย์การพัฒนาสุขภาพภายในของนิสิตโดยยาวิเศษที่มีชื่อเท่ๆ ว่า Empowerment อะไรคือ Empowerment ? “ความจริงแล้ว Empowerment ความหมายค่อนข้างกว้าง แต่สิ่งที่อยากจะเน้น ก็คือ การถ่ายทอดทักษะอะไรก็ได้อย่างมีความมั่นใจและต่อเนื่องมากที่สุด เราต้องการให้คนที่ได้รับการถ่ายทอดไปแล้วมีความมั่นใจที่จะถ่ายทอดต่อไปได้ ไม่ใช่จบแค่คนหนึ่งพูด คนหนึ่งฟัง แล้วจบ” พญ.ภรณี เหล่าอิทธิ หรือ “หมอยุ้ย” ผู้รับผิดชอบโครงการพลังจุฬาฯ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเล่าให้ฟังหลังจากแจกแบบทดสอบแรกให้กับนิสิตที่มาฟังโครงการว่า มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Empowerment มากเพียงใด ซึ่งหลายคนกุมขมับแล้วให้คะแนนความเข้าใจเรื่องนี้ที่ 1 เต็ม 10 “โดยหลักแล้วเราต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองก่อน เพราะถ้าเรามีความมั่นใจในการทำงานก็จะเกิดสุขภาวะที่ดี เมื่อเริ่มจากภายในที่แข็งแกร่งแล้วเราก็จะสามารถถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ“ หมอยุ้ย กล่าวเสริมถึงความเกี่ยวโยงระหว่าง Empowerment กับการสร้างสุขภาวะ ระหว่างที่หมอยุ้ยได้กลับไปบรรยายต่อ บรรยากาศในห้องประชุมก็เริ่มมีความเป็นกันเองมากขึ้นตัวแทนนิสิตจากคณะ และชมรมต่างๆ กว่า 30 ชีวิตล้วนให้ความร่วมมือในการตั้งคำถาม และตอบคำถามเป็นอย่างดี โดยการอบรมเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแต่ละกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน “เราจะจัดอบรมขึ้นสองครั้งค่ะ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วและต่อจากนี้เราจะให้นิสิตไปคิดโครงการออกมาจากแนวคิดที่เราให้ไป ถ้าสามารถตอบโจทย์ได้เราก็จะอนุมัติเงินทุกให้สูงสุด 1 แสนบาท เราก็วางไว้จะให้ประมาณ 20 โครงการค่ะ” หมอยุ้ย อธิบายถึงความคืบหน้าของโครงการ สำหรับโจทย์ที่นิสิตได้รับนั้น คือการออกแบบโครงการที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าหากสอดคล้องกับ 4 ประเด็นด้านสุขภาวะ อันประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตั้งใจเรียน เลิกดื่มเหล้า) การลดความเครียด การดูแลหรือสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ การลดภาวะโลกร้อน ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 และจะมีการประเมินต่อไป “ถ้านอกเหนือจาก 4 ประเด็นนี้เราก็ยังคงรับพิจารณานะคะ แต่เราก็อยากจะตั้งธงไว้อย่างกว้างที่สุดในปีแรก และเราก็หวังอยากให้โครงการเหล่านี้มันอยู่อย่างยั่งยืน เราเลยเลือกที่จะเอากิจกรรมที่เขามีมาอยู่แล้วมาพัฒนาให้เข้ากับแนวคิดของเรา เพราะเราก็หวังว่าปีนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไปสำหรับปีหน้า ซึ่งเราอาจจะหาแนวทางที่ชัดเจนได้มากขึ้น” หมอยุ้ยสรุปอย่างยิ้มแย้ม เมื่อเสริมพลัง ต้นกล้าก็เริ่มงอกเงย! หลังจากได้ฟังบรรยายและซักถามกับวิทยากรอย่างหมอยุ้ยนาน กว่า 3 ชั่วโมง นิสิตหลายคนจากที่ตอนแรกเริ่มทำหน้ามึนๆ งงๆ ก็เริ่มผุดรอยยิ้มจางๆ ออกมา เพราะเริ่มมองเห็นทางแล้วว่าจะเดินทางต่ออย่างไรดี แม้จะยังเป็นแนวความคิดที่คิดกันสดๆ อาจยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นต้นอ่อนที่เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี ที่เริ่มผลิใบเล็กๆ ออกมาให้เห็น อภินันท์ นิติมงคลวาร นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ การกีฬา จากชมรมค่ายกีฬาพัฒนาเยาวชน เล่าว่าไม่ได้คาดหวังอะไรจากการมาฟัง เพียงแต่ต้องการจะมาหาทุนเพื่อค่ายของตนเอง แต่เมื่อได้ฟังแนวคิดเกี่ยวกับการเสริมพลัง หรือ Empowerment แล้ว รู้สึกว่าเป็นความคิดที่ดี “ตอนนี้ก็คิดๆ โครงการขึ้นมาได้เป็นชื่อว่า “ทิ้งเหล้า เผาบุหรี่” คือเราก็จะไปชวนเด็กเล่นกีฬาอยู่แล้วเวลาเราไปออกค่าย แต่ทีนี้เราก็จะชวนให้เด็กๆ ที่มาเล่นกีฬากับเราให้ไปคุยกับพ่อแม่ว่าจะลดบุหรี่ ลดเหล้า นานกี่เดือน หรือ เลิกได้เลยก็ยิ่งดี เราก็อาจจะลองทำเป็นกระแสขึ้นมา เพราะเวลานักศึกษาเข้ามาจัดกิจกรรมในหมู่บ้านต่างๆ มันค่อนข้างมีพลังครับ เราก็จะลองเอาไปกลั่นกรองดูอีกทีแล้วยื่นมาขอทุนอีกครั้งครับ” อภินันท์ เล่า ด้าน พัสร วงศ์วัชรกาญจน์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ จากชมรมศิลปวัฒนธรรมล้านนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นพ้องต้องกันว่า Empowerment เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเวลาไปออกค่าย จะมีทั้งการให้และการรับแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยให้แนวคิดของค่ายเป็นไปอย่างแข็งแรงมากขึ้น “โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มากค่ะ เพราะไม่ได้เอื้อประโยชน์เฉพาะนิสิตในมหาวิทยาลัย แต่ยังส่งผลดีไปสู่คนทั่วไป ซึ่งเราก็จะได้ทั้งพัฒนาตัวเองและพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่มองเห็นความสำคัญในจุดนี้มากๆค่ะ” ภายในปีหน้านี้เราคงเห็นโครงการดีๆ ที่งอกงามจากความพยายามที่จะสร้างสังคมที่มีความมั่นคงทางสุขภาวะของ สสส. และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาอีกเป็นจำนวนมาก จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ