เอชเอสบีซี เปิดตัวหนังสือคู่มือบริหารเงินสดและตลาดทุนเล่มล่าสุด ระบุองค์กรธุรกิจต้องการบริการบริหารเงินสดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Monday February 20, 2006 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ธนาคารเอชเอสบีซี
ธนาคารเอชเอสบีซี ระบุแนวโน้มองค์กรธุรกิจกำลังมองหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้นทุนการบริหารงานที่เพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทในประเทศ โดยข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือคู่มือการบริหารเงินสดและตลาดทุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเอชเอสบีซีเล่มล่าสุด
มร. ริชาร์ด แจ็กการ์ด หัวหน้าฝ่ายขายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มบริการชำระเงินและบริหารเงินสด ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า แนวโน้มการบริหารเงินสดขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทยในปีนี้ จะแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การรวมศูนย์ (Centralization) คือใช้ศูนย์กลางในการดำเนินการแห่งเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนการบริหารงาน ส่วนประเด็นที่สองได้แก่การเน้นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนของตนเองให้มีประสิทธิภาพ และประเด็นสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งเน้นลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เพื่อส่งมอบบริการที่ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์และลักษณะการบริหารเงินสดแตกต่างกัน
มิสแพทริเซีย ลิม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการชำระเงินและบริหารเงินสด ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจบริหารเงินสดในตลาดไทยมีการแข่งขันสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเอชเอสบีซีจะประสบความสำเร็จในธุรกิจบริการชำระเงินและบริหารเงินสด ด้วยศักยภาพของเอชเอสบีซีที่มีเครือข่ายทั่วโลก และจุดแข็งด้านระบบและเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าองค์กรแต่ละแห่ง รวมทั้งการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ก่อนการขายจนถึงหลังการขาย รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าอย่างใกล้ชิด
ธนาคารเอชเอสบีซี ได้เปิดตัวหนังสือคู่มือการบริหารเงินสดและตลาดทุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2006 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหนังสือคู่มือดังกล่าวเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 9 มีเนื้อหาด้านการบริหารเงินสดและตลาดทุนครบถ้วนที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยบทความจากผู้เชี่ยวชาญ 79 ท่าน ครอบคลุมทั้ง 17 ประเทศและเขตปกครองพิเศษทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าองค์กรธุรกิจทุกขนาดมีความต้องการบริการด้านบริหารเงินสดเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ และความต้องการระบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของบรรดาคู่ค้าทางธุรกิจ
ด้วยบริการบริหารเงินสดชั้นนำของธนาคารเอชเอสบีซี บรรษัทธนกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ด้วยการ
- ลดการลงทุนด้านเงินทุนหมุนเวียน ผ่านระบบบริหารจัดการสภาพคล่องที่มี ประสิทธิภาพ
- เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดรายจ่ายในกระบวนการดำเนินการ
- เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ซื้อ/ผู้ขาย
ธนาคารเอชเอสบีซีให้บริการระบบบริหารเงินสดอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นบริการชั้นนำในตลาด โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ พร้อมศักยภาพในการให้คำปรึกษาจากมืออาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการด้านบริหารเงินสดทั้งในปัจจุบันและอนาคตของลูกค้า อีกทั้งยังมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค และความเชี่ยวชาญในตลาดเมืองไทย ด้วยการส่งมอบบริการอย่างทันทีทันใดผ่านช่องทางเดียวที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
มร. ลอเรนซ์ เว็บ หัวหน้ากลุ่มบริการชำระเงินและบริหารเงินสด ธนาคารเอชเอสบีซี ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “หนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือสำคัญสำหรับการบริหารเงินสดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการบริหารเงินสดเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง และคู่มือเล่มนี้จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถบริหารการดำเนินงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้”
บทความในหนังสือคู่มือดังกล่าว เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ เจ้าหน้าที่ผู้ออกกฎระเบียบ นักบริหารตลาดทุน และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี อัตราแลกเปลี่ยน หลักทรัพย์ กฎหมาย และเทคโนโลยีสารสนเทศจากธนาคารเอชเอสบีซี และสถาบันการเงินชั้นนำอื่น ๆ ตลอดจนบริษัทที่ปรึกษา และรัฐบาลครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ คู่มือดังกล่าวยังประกอบด้วยกรณีศึกษา บทวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศและเขตปกครองพิเศษ รวมทั้งข้อมูลกฎระเบียบล่าสุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ