โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเทคนิคผ่าตัดใหม่ล่าสุด

ข่าวทั่วไป Wednesday June 28, 2006 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย)
"การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก" แผลเล็ก ไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยทางด้านกระดูกและข้อ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก" โดยนายแพทย์ไฮนซ์ ร็อตติงเจอร์ ศ.นพ.พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ รศ. นพ. อารี ตนาวลี เป็นผู้สาธิตและเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมและบรรยายในคอร์ส “Chula-Zimmer MIS Anterolateral Total Hip Arthroplasty Course ให้แก่แพทย์สาขากระดูกและข้อทั่วประเทศ ร่วมทั้งแพทย์ต่างชาติ จากประเทศเกาหลี และใต้หวัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ณ สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ อาคารเจริญ-สมศรี เจริญรัชภาคย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
"การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก - Minimally Invasive Solutions Anterolateral for Total Hip Arthroplasty — MIS AL THA” นายแพทย์ไฮนซ์ ร็อตติงเจอร์ จากมิวนิค ประเทศเยอรมันเป็นผู้คิดค้นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมวิธีใหม่ ตั้งแต่ปี 2545 และใช้เทคนิคดังกล่าวผ่าตัดจริงกับผู้ป่วยมาแล้วมากกว่า 1500 ราย และได้อบรมและบรรยายแก่ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลกมาแล้วกว่า 300-400 ท่าน
“ตั้งแต่ผมใช้เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนี้ ผมพบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาทำงานและดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้นกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ที่มีแผลผ่าตัดยาวและต้องตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก ผมคิดว่าเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ นับเป็นวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของการผ่าตัดแผลเล็ก ดังนั้น ผมจึงอยากเผยแพร่เทคนิคใหม่นี้ให้กับแพทย์วงการออร์โธปิดิกส์ทั่วโลกให้ได้รู้จัก และใช้วิธีดังกล่าวกับผู้ป่วยโรคข้อสะโพก ผมเชื่อว่าเทคนิคใหม่จะเป็นที่แพร่หลายทั่วโลกในเวลาอันใกล้นี้” นายแพทย์ร็อตติงเจอร์ กล่าว
ศ.นพ. พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ หัวหน้าภาควิชาฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ตั้งแต่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มนำเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เข้ามาบรรจุในหลักสูตร มีศัลยแพทย์นับร้อยจากทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมในคอร์สอบรม ทั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้คิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดเทคนิคใหม่นี้จากประเทศเยอรมัน เดินทางมาเป็นวิทยากรในงานอบรม Chula-Zimmer MIS Anterolateral Total Hip Arthroplasty Course ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ออร์โธปิดิกส์มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเทคนิคการผ่าตัดข้อสะโพกแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เคยจัดคอร์สอบรมเทคนิคดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 และสถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อแห่งแรกในเอเชีย เทคนิคนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นมาเนื่องจากแพทย์คำนึงถึงประโยชน์ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงสุด”
รศ. นพ. อารี ตนาวลี อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เป็นหนึ่งในเทคนิคการผ่าตัดแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย หรือ MIS ซึ่งไม่ทำให้กล้ามเนื้อรอบสะโพกอ่อนแอลง และผู้ป่วยยังฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกขึ้นยืนได้ในวันรุ่งขึ้นหลังจากผ่าตัด และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วันหลังจากผ่าตัด รวมทั้งผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงาน หรือกิจวัตรประจำวันต่างๆ ตามปกติได้เร็วขึ้น จากวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องนอนพัก 7-14 วัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ใช้เทคนิคใหม่นี้ผ่าตัดผู้ป่วยมาแล้ว 27 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ในวันรุ่งขึ้น และผู้ป่วยสามารถขับรถภายในสัปดาห์แรก ไปทำงาน และดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ภายใน 3 สัปดาห์” รศ. นพ. อารี ตนาวลี กล่าวต่อไปว่า “ปัจจุบัน ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ส่วนใหญ่ใช้วิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก แต่ทำให้บาดแผลภายนอกมีขนาดเล็กลง ซึ่งแตกต่างจากวิธีการผ่าตัดแบบ MIS AL THA ที่มีแผลเล็กลงแต่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อ แต่ใช้วิธีผ่าตัดผ่านช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่สูญเสียกำลัง ลดความเจ็บปวดของบาดแผล ระยะเวลาพักฟื้นจะสั้นลง อีกทั้งแผลเป็นมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก เทคโนโลยีใหม่นี้จะเอื้อประโยชน์ทั้งแก่ผู้ป่วยและศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์” รศ. นพ. อารี ตนาวลี กล่าว
เทคนิคการผ่าข้อสะโพกวิธี MIS AL THA แตกต่างจากวิธีผ่าตัดแบบ 2 แผลเล็ก (Two-Incision THA) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คือ แม้วิธี 2 แผลเล็กจะได้ผลการรักษาดีเยี่ยม แต่ต้องมีปัจจัยการคัดเลือกผู้ป่วยที่รัดกุม และแพทย์ต้องมีความชำนาญสูง ขณะที่วิธี MIS AL THA มีแผลผ่าตัดแผลเดียว มีข้อจำกัดการเลือกใช้กับผู้ป่วยน้อยกว่า แต่ได้ผลการรักษาใกล้เคียงกัน
นอกจาก แพทย์สาขาออร์โธปิดิกส์ที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในความสำคัญของเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อแล้ว การฝึกอบรบดังกล่าวยังสามารถสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางด้านออร์โธปิดิกส์ให้แพร่หลายในประเทศไทยอีกด้วย
สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:
ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน / ธนิตศักดิ์ พิทักษ์สินากร เลขานุการศาสตราจารย์นายแพทย์ พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์
บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทร 0-2260-5820 ต่อ 114 โทร. 0-2256-4510
โทรสาร 0-2260-5847-8 Email: ortho@md.chula.ac.th
อีเมล์ tqprthai@tqpr.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ