กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอเผยผลการวิเคราะห์ ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากรายจ่ายของรัฐในสาขาการขนส่ง โดยเฉพาะกรณีถนน พบการลงทุนยังกระจุกตัวในกรุงเทพ ปริมณฑล คนมีรถส่วนตัวรายได้ปานกลางถึงสูงได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้น้อย ระบบขนส่งสาธารณะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึง ใช้ประโยชน์ แนะส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบการขนส่งสาธารณะในส่วนภูมิภาค
ถนนเป็นโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนเราที่ต้องใช้ประโยชน์ในการเดินทางและขนส่ง และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาครัฐมีการลงทุนใช้จ่ายด้วยการพัฒนา บำรุงรักษา และให้บริการด้านการขนส่งด้วยเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ก็ไม่รู้ว่าใครได้รับประโยชน์จากลงทุนทางถนนมากน้อยเพียงไรและแตกต่างกันอย่างไร
ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากรายจ่ายของรัฐในสาขาการขนส่ง เน้นกรณีถนน ซึ่งเป็นการขนส่งทางบกที่มีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก การประเมินและวัดขนาดของผลประโยชน์ในด้านการขนส่งจากการใช้จ่ายของภาครัฐจึงมีความสำคัญมาก ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์โครงการเป็นกรณี ๆ ใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์เป็นวิธีการประเมินหลัก
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การประเมินรายจ่ายของภาครัฐในด้านการขนส่ง โดยเฉพาะโครงการด้านการบำรุงรักษาและให้บริการถนน เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากผลประโยชน์ของถนนมีลักษณะเป็นผลกระทบเชิงโครงข่าย กล่าวคือ การพัฒนาโครงข่ายเพียงจุดเล็ก ๆ ในระบบ อาจส่งผลประโยชน์ในวงกว้าง และการประเมินรายจ่ายของภาครัฐในส่วนของการพัฒนาและบำรุงรักษาถนน ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในลักษณะของงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาถนน ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และค่าใช้จ่ายด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งทำการประเมินผลประโยชน์ในลักษณะเป็นโครงการได้ยาก
งานศึกษานี้จึงใช้วิธีการประเมินผลประโยชน์ โดยการคำนวณการใช้ประโยชน์ของประชาชนในด้านการขนส่งโดยใช้รายจ่ายด้านการเดินทางและขนส่งของประชาชน ซึ่งค่าใช้จ่ายของประชาชนนี้ แสดงถึงการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่รัฐจัดสร้างขึ้น โดยการประเมินผลประโยชน์ของประชาชน แบ่งเป็นผลประโยชน์จากการเดินทาง และผลประโยชน์จากการขนส่ง ในส่วนรายจ่ายของภาครัฐ ประเมินค่าใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของถนนเป็นหลัก ซึ่งจะทำการคำนวณการใช้งานตามหน่วยการขนส่ง และประเมินค่าใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่มีการกำหนดราคาต่ำกว่าทุนเพื่อเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งประชาชนที่ใช้บริการ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้น
ผลการวิเคราะห์พบว่า รายจ่ายของภาครัฐด้านการขนส่งกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยที่การกระจายตัวของผลกระโยชน์จำแนกตามกลุ่มรายได้นั้น พบว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐในระบบถนน คือ ผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก และกลุ่มรายได้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (มีรถยนต์ส่วนตัว) แต่ถ้าพิจารณารวมรายจ่ายของภาครัฐในส่วนของการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจในเขตกรุงเทพฯ (ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) พบว่า การกระจายตัวของผลประโยชน์ดีขึ้น โดยผลประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะที่ตกสู่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ มีการกระจายตัวสู่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยมากขึ้น
การวิเคราะห์ผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐตามกลุ่มรายได้ต่าง ๆ ของภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐที่ตกสู่ระบบขนส่งสาธารณะมีสัดส่วนน้อย ทั้งที่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นระบบที่คนรายได้น้อยสามารถใช้บริการได้ (ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์เป็นของตัวเอง) แสดงถึงนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะ และการที่ผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐตกสู่ประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้สัดส่วนผลประโยชน์จากรายจ่ายของภาครัฐด้านการเดินทาง ตกสู่ประชาชนกลุ่มรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อสังเกตว่า การที่ภาครัฐ(ส่วนกลาง) ให้เงินอุดหนุนในส่วนของการขนส่งสาธารณะผ่านการดำเนินงานของ ขสมก. ทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มรายได้ต่าง ๆ ได้ดีกว่าการกระจายผลประโยชน์ของภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งภาครัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้ผลประโยชน์ในระบบขนส่งตกสู่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่ากระจายสู่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ หน่วยงานท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะด้วย โดยระบบขนส่งสาธารณะที่ควรได้รับการสนับสนุนได้แก่ รถโดยสารประจำทาง เนื่องจากมีราคาถูกและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย