กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. หาเรือโดยสารแบบแอร์ ให้บริการในคลองแสนแสบจากท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงท่าเรือมีนบุรี หลังไม่มีเอกชนให้ความสนใจ ซึ่งใช้งบไม่ถึง 1,000 ล้านบาท คาดปลาย 53 ได้ใช้ พร้อมเล็งขยายถึงสะพานผ่านฟ้าฯ ให้เป็นทางเลือกเดินทางประชาชน ส่วนคลองภาษีเจริญจะเดินเรือติดแอร์จากบางแค-บางหว้า เชื่อมเส้นทางรถไฟฟ้าและ BRT โดยใช้ระบบตั๋วร่วม คาดให้บริการปี 54
กทม. หาเรือติดแอร์วิ่งเองจากท่าศรีบุญเรือง-มีนบุรี ภายใน 53 ได้ใช้
18 ธ.ค. 52 ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการพัฒนาการเดินเรือโดยสารในคลอง ว่า กรุงเทพมหานครจะจัดหาเรือโดยสารแบบปรับอากาศมาวิ่งในคลองแสนแสบ จำนวน 12 ลำ ให้บริการประชาชนระหว่างท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงท่าเรือมีนบุรี ซึ่งมีจำนวน 14 ท่าเรือ ระยะทาง 11 กิโลเมตร หลังจากที่ไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจประกอบการ โดยอาจใช้งบประมาณไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ในการจัดหาเรือและปรับปรุงท่าเรือ โดยตั้งเป้าหมายภายในปลายปี 53 จะเปิดให้บริการได้ ทั้งนี้อาจใช้งบประมาณจากการขอให้รัฐบาลสนับสนุนตามโครงการไทยเข้มแข็งหรืองบประมาณของกทม. เอง ขึ้นอยู่กับการสำรวจจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งในการบริหารจัดการเดินเรือและจัดหาเรือ กทม. มอบให้ บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งจะมีการหารือกันขยายเส้นทางให้บริการของเรือโดยสารปรับอากาศจากท่าเรือมีนบุรี-สะพานผ่านฟ้าลาศ ระยะทาง 19 ก.ม. เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชน จากที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการของ หจก.ครอบครัวขนส่ง จากท่าสะพานผ่านฟ้าฯ — วัดศรีบุญเรือง ประมาณ 54,000 คนต่อวัน
ภายในปี 54 จะมีระบบการเดินทางเชื่อมรถไฟฟ้า เรือแอร์คลองภาษีเจริญ และ BRT ด้วยระบบตั๋วร่วม
ในอีกเส้นทางหนึ่งนั้น กทม. กำหนดให้เดินเรือแบบปรับอากาศตามแนวคลองภาษีเจริญ จากบางแค-บางหว้า เชื่อมต่อ สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลมวงเวียนใหญ่-บางหว้า ที่กำหนดเปิดให้บริการในปี 54 และต่อเชื่อมการเดินทางกับรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ที่จะเปิดให้บริการในปี 53 ซึ่งหากให้บริการเรือโดยสารปรับอากาศในปี 54 แล้วจะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอส รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT และเรือโดยสารปรับอากาศ นอกนั้นยังมอบให้ บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ศึกษาและหาแนวทางดำเนินการจัดทำตั๋วร่วมระหว่างระบบขนส่งทั้ง 3 ระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางเชื่อมต่อด้วย ทั้งนี้จากการคำนวณเบื้องต้นงบประมาณในการดำเนินการไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักสำหรับการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้เดินทางอย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ดร.ธีระชน กล่าว