มูลนิธิซิเมนต์ไทย ผลักดันโครงการ “การค้าผูกพัน” รณรงค์พนักงานหนุนสินค้าอินทรีย์จากชุมชนต่อเนื่อง ยกระดับสู่ผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน

ข่าวอสังหา Monday December 21, 2009 07:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--เอสซีจี มูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG Foundation) เปิดตัวโครงการการค้าผูกพัน รณรงค์พนักงานสนับสนุนสินค้าอินทรีย์จากชุมชน ยกระดับการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม มุ่งผลักดันสู่การเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Consumer เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการมูลนิธิซิเมนต์ไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพนักงานเอสซีจีทุกระดับได้ถูกปลูกฝังในเรื่องของการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งร่วมเป็นอาสาสมัครทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง “โครงการการค้าผูกพัน” จึงเกิดขึ้นโดยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของมูลนิธิซิเมนต์ไทย ในการรณรงค์ ส่งเสริมให้พนักงานเอสซีจีเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Consumer ด้วยการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้วิธีการบริโภคที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมการผลิตแบบธรรมชาติดั้งเดิม รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์จากการซื้อสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตโดยชุมชน โดยวางแนวทางการสนับสนุนการค้าผูกพันทั้งระดับพนักงานและระดับบริษัท “การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการรณณงค์เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ มูลนิธิฯ จึงเลือกที่จะเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ และใกล้ตัวที่สุด โดยเริ่มจากตัวเราก่อน เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ ก่อนที่จะขยายผลเรื่องอื่นๆ ต่อไป ‘โครงการการค้าผูกพัน’ นับเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม คือ ไม่ใช่การเป็นอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมเป็นครั้งคราว แต่ลงมือกระทำในทุกๆวัน จนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน” คุณกานต์ กล่าว สำหรับแนวคิดการค้าผูกพัน เป็นการซื้อขายสินค้าอินทรีย์ที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง พ่อค้า แม่ค้าที่นำสินค้ามาขาย ล้วนแต่เป็นผู้ปลูกเอง ทำเอง ขายเองทั้งสิ้น ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ‘ทำให้เกิดเป็นความผูกพันกันระหว่างคนขายกับคนซื้อ เป็นการแลกเปลี่ยนแบบรักใคร่แบ่งปัน เป็นการพึ่งพิงระหว่างเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่เห็นแต่ประโยชน์ตอบแทน’ ในแง่ของราคาที่ซื้อขาย ก็เป็นการซื้อขายตามราคาที่เป็นจริง ตามต้นทุนการผลิตจริงบวกกับต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่มีค่าการจัดจำหน่ายที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น เมื่อขายได้ผู้ขายก็มีรายได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีกำลังใจที่จะผลิตสินค้าดีๆ ผู้บริโภคก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ที่ไม่มีใครเอาเปรียบใคร รวมถึงไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม “มูลนิธิฯ หวังว่า ‘โครงการการค้าผูกพัน’ กับพนักงานเอสซี จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนทำให้ผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ที่มีความตั้งใจในการผลิตสินค้าดีๆ ให้อยู่รอดในกระแสการการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม และเป็นการจูงใจให้เกษตรกร ชาวนา หันมาใช้กระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น นอกจากนี้ยังหวังว่า เอสซีจีจะเป็นตัวอย่างที่จะช่วยจุดประกายให้องค์กรอื่นๆ นำแนวคิดนี้ไปช่วยขยายผลในองค์กรของตนเอง เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง เป็นสังคมสุขภาวะต่อไป” คุณกานต์ กล่าวสรุปในตอนท้าย โครงการการค้าผูกพัน เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสุขภาพผู้ซื้อ และใส่ใจต่อความสุขของผู้ค้า โดยมูลนิธิซิเมนต์ไทย ได้จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์รายย่อยเข้ามาจำหน่ายผลผลิตและสินค้าอินทรีย์ ทุกวันจันทร์และวันพุธ ที่สำนักงานใหญ่ เอสซีจี บางซื่อ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ