กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--โพรวายด์ พลัส
มารศาสนาแก๊งตัดเศียรพระระบาดหนักในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ขโมยกันเป็นว่าเล่นไม่เกรงกลัวบาปกรรม หรืออาถรรพ์คำสาปแช่ง แม้นตำรวจระดมกำลังตามล่าคนร้าย แต่ก็ยังจับตัวมาลงโทษไม่ได้เลย อีกทั้งจะคดีตัดเศียรพระมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว ในปี52
เหตุผลเช่นนี้ทำให้ นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ต้องแร่งเครื่องเดินหน้าเชิงรุก ป้องกันที่ต้นเหตุก่อนแก๊งมารจะฉกมรดกของชาติไปขายหมดเมือง เล่าให้ฟังว่าด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ไม่เพียงพอกับการที่จะเข้าไปดูแลโบราณสถานกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนเพียง 2,000 กว่าแห่ง แนวทางที่กรมศิลปากรกำหนดไว้ต้องประสานความมือจากประชาชนและภาคเอกชน พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจ มองเห็นถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม เข้ามาช่วยกันในบทบาทที่สามารถทำได้
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่าดังนั้นจึงต้องให้ภาคเอกชนช่วยสนับสนุนงบประมาณ ชาวบ้านมีกำลังเข้ามาร่วมดูแลภายหลังบูรณะเสร็จแล้ว ทางกรมศิลปากรมีบุคลากรซึ่งมีประสบการณ์ นำความรู้ทางวิชาการ เข้ามาขุดค้นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ สำหรับปัญหาคนร้ายเข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูปและขโมยของเก่านั้น อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมใจกันรักษาโบราณสถาน มรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถานต่างๆ เป็นสมบัติของท้องถิ่น และเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ถ้าหากทุกคนไม่ว่าเป็นผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน และภาคเอกชน ตระหนักถึงคุณค่าของโบราณสถาน มาร่วมมือร่วมใจช่วยกันบูรณะและรักษาอย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหาต่างเหล่านี้คงจะลดน้อยลงไป
เอนก สีหามาตย์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เล่าว่าเป็นห่วง โบราณสถานและโบราณวัตถุในจ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีเกือบ 570 แห่ง นับวันจะสูญหายไป ด้วยกำลังบุคคลากรและทุนทรัพย์ของทางกรมศิลปากร ยังไม่เพียงพอ จึงต้องหาแนวทางความร่วมมือจากภาคเอกชนและชุมชน
แนวทางการทำงานของกรมศิลปากร แบ่งการทำงานแยกดูแลโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง เช่นวัดมหาธาตุ วัดราษฎณ์บูรณะ หรือวัดไชยวัฒนาราม กรมศิลปากรก็จะเข้าไปดำเนินการ ส่วนโบราณสถานที่สืบทอดมามีพระภิกษุ จำวัดอยู่ เช่นวัดพนันเชิง วัดหน้าพระเมรุ ทางวัดก็มีกำลังทรัพย์บริหารวัดเอง ทางกรมศิลปากร ก็ให้คำปรึกษาทางวิชาการ จัดรูปแบบอย่างถูกต้อง ส่วนวัดร้าง หรือวัดที่ไม่มีทุนทรัพย์อย่างเช่น วัดดงหวาย วัดไม้ลวก วัดหัวพรวน แถบลุ่มน้ำป่าสัก มักถูกตัดศรีพระพุทธรูปเป็นประจำจนไม่เหลือของเก่าให้ดู หากปล่อยเลยไปมากกว่านี้ คงไม่เหลือซากประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้ศึกษา
เอนก บอกอีกว่าวัดเป็นนิติบุคล มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย วัดและชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นเป็นเจ้าของโบราณสถานได้ ถ้ามีการดูแลให้ชุมชนเข้มแข็ง ปัญหาการตัดเศียรพระ การทำลายก็จะน้อยลง จึงพยายามหาหน่วยงานมาช่วยสนับสนุน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมศิลปากรจัดกิจกรรมดีๆ ร่วมกับผู้บริหารบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จัดพิธีบวงสรวงและบูรณะโบราณสถานวัดขรัวตาเพชร หรือชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหัวพรวน ต.โพธิเอน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติยาวนาน 300 กว่าปี เป็นวัดที่อยู่ในชุมชนล้อมรอบตามลุ่มน้ำป่าสัก สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ ในช่วงรัชกาลที่ 3 มีการปฏิสังขร วัดที่อยู่แม่น้ำป่าสัก มีชาวเวียงจันทร์อพยพไปอยู่ มีอาชีพตีมีดอรัญญิก และทำทองคำ จึงเป็นชุมชนที่เจริญช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งขั้นตอนก็จะเข้าไปสำรวจ ศึ่กษาความเป็นมาอย่างละเอียด ต่อไปก็จะขยายวงกว้างดูแลสมบัติโบราณสถานให้มากที่สุด
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าซากอิฐต่างๆที่อยู่ใกล้กับคลังน้ำมันจ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อมาตรวจสอบแล้วคาดว่าน่าจะเป็นวัดเก่า สมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ 300 ปี อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก อดีตจะใช้เป็นเส้นทางสัญจรจากอยุธยาขึ้นไปจ.ลพบุรี จึงมีวัดตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก น่าเสียดายที่วัดหัวพรวนพังทลายลงมาด้วยอายุที่ยาวนาน ทางผู้บริหารจึงได้ประสานกับทางกรมศิลปากร เข้ามาสำรวจและบูรณะ เพื่อเป็นสมบัติของชาติในอนาคต เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรคงใช้เวลาหลายปี ซึ่งทางบริษัทได้มอบงบประมาณสนับสนุนในการทำงานครั้งนี้ สุดท้ายเมื่อแล้วเสร็จ คงจะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และจะทำให้เป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ มอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลรักษาต่อไป
นายบันเทิง เอนกสุข อายุ 67 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าบริเวณนี้ทั้งสองฝั่งลำน้ำป่าสัก ล้วนแล้วแต่มีการค้นพบวัดร้างเป็นจำนวนมาก บางวัดไม่มีเหลืออะไรให้ขุดค้น เหลือแค่พระพุทธรูปหรือเศียรพระพุทธรูปที่เอาไว้กราบบูชาเท่านั้น คนที่นี้ยังเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องดีที่จะเข้ามาบูรณะโบราณสถานเพราะหลายๆ แห่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในพื้นที่นี้เป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องดีที่หลายฝ่ายจะเข้ามาดูแลพื้นที่โบราณสถานอย่างมีแบบแผน เพราะที่ผ่านมาหลายๆ แห่งเสียหายเพราะการขุดค้นเอาทรัพย์สินไปขาย
ยายสมคิด เอิบกมล อายุ 77 ปี ชาวบ้านคนพื้นเพติดกับวัดวังแดงใต้ อ.ท่ารือ จ.พระนครศรีอยุธยา ติดริมแม่น้ำป่าสัก เล่าประสบการณ์ที่เห็นโจรขโมยพระว่า
“เมื่อก่อนยายเคยเห็นรถกระบะเข้าไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เข้ามาจอดอยู่ในวัด มีชายหญิง 2 คนนั่งอยู่ในรถ จึงไปคนดูแลวัดว่าสงสัยเข้าจะมาขโมยพระพุทธรูป แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เพื่อนบ้านยังถูกพูดกลับมาว่าอย่าไปคิดมากสงสัยเค้ามาหาหลวงพ่อ พอวันรุ่งขึ้นพระพุทธรูปในโบสถ์หายไป”
ก่อนหน้านี้ยายอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ มีคนมาอยู่เยอะ มีวัดร้างชาวบ้านเรียกันว่าวัดหัวพรวน เห็นคนเข้าไปขุดคุยของเก่า เจ้าที่เค้าแรงเห็นคนเขาของมาคืน ชาวบ้านก็หมุนเวียนกันไปหนีกันไปหมด บริเวณวัดก่อเป็นอิฐเหลี่ยมสีเหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาแต่ไม่สูงมาก มันเก่าแก่มากก็พังลงมา
เกิดมาก็เห็นวัดในบริเวณนี้มีถี่ๆ จึงสงสัยไปถามคนเก่าแก่เล่าต่อกันมาว่าสมัยก่อนบ้านไหนที่มีฐานะร่ำรวย จะบวชลูกชายก็จะสร้างวัดให้ลูกเค้าอยู่ ไม่ต้องไปอยู่รวมกับใคร แต่ไม่ได้สร้างโบสถ์ ถึงทุกวันนี้จึงมีวัดร้างเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องดีที่มีคนเข้ามาสนใจบูรณะวัดเก่า
ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายประสานความร่วมมือกัน หวังเป็นอย่างยิ่งมรดกของชาติไทย จะคงอยู่ให้ลูกหลานศึกษาและสืบทอดต่อไป