กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AAA(tha)’
อันดับเครดิตของ EXIM มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร นอกจากนี้บทบาทของ EXIM ในฐานะองค์กรสินเชื่อเพื่อการส่งออกซึ่งทำให้ธนาคารได้รับการประกันหนี้บางส่วน และสามารถรับการชดเชยความเสียหายจากธุรกิจที่ดำเนินตามนโยบายของภาครัฐ ยังทำให้อันดับเครดิตของธนาคารมีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น ในเดือนเมษายน 2552 อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) และแนวโน้มอันดับเครดิตของ EXIM ได้ถูกปรับลดลงเป็น ‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เป็นผลจากการที่อันดับเครดิตของประเทศไทยได้ถูกปรับลงเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อของประเทศไทย
หลังจากประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2550 EXIM ประกาศผลกำไรที่ลดลงในปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ 201 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 60% จากปีก่อนหน้าเนื่องจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มสูงขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ นอกจากนี้รายได้ของธนาคารยังลดลงจากการหดตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตามผลประกอบการในเก้าเดือนแรกในปี 2552 ของ EXIM ได้ปรับตัวดีขึ้นโดยมีกำไรสุทธิที่ 160 ล้านบาท แม้ว่าความเสี่ยงในการต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นยังมีอยู่
การอ่อนตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และไตรมาสแรกของปี 2552 ส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ณ สิ้นปี 2551 EXIM มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีจำนวน 4.7 พันล้านบาท (หรือ 9.24% ของสินเชื่อรวม) เพิ่มขึ้น 62% จาก 2.9 พันล้านบาท (5.46%) ณ สิ้นปี 2550 และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.3 พันล้านบาท (10.84%) แต่ปรับตัวลดลงมาที่ 4.3 พันล้านบาท (9.06%) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยของเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์ของ EXIM ในปี 2553
เงินกองทุนของ EXIM อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 23.82% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เทียบกับ 16.63% ณ สิ้นปี 2551 และ 13.05% ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มทุนโดยกระทรวงการคลัง ณ สิ้น ปี 2551 (1.3 พันล้านบาท) และ ในเดือนกันยายน 2552 (5 พันล้านบาท) อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 23.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ซึ่งสูงกว่าธนาคารเพื่อการส่งออกอื่นๆในภูมิภาค
EXIM เริ่มดำเนินการในปี 2537 โดยธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง และถูกตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป้าหมายหลักของธนาคารคือการส่งเสริมการส่งออก การลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศและการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ EXIMไม่สามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้
ติดต่อ นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4763/4759