กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) (UOBT; ซึ่งก่อนหน้านี้คือธนาคารเอเชีย) ดังต่อไปนี้: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB+’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ ธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของ UOBT และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร คือ United Overseas Bank ของสิงคโปร์ (UOB ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘AA-’(AA ลบ)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ UOB รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนของ UOB ที่มีต่อ UOBT อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของ Country Ceiling ของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT ได้เช่นกันเนื่องจากอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของ UOBT ถูกจำกัดโดย Country Ceiling ผลประกอบการของ UOBT ถูกจำกัดโดยเครือข่ายของธนาคารที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆในประเทศ
ผลประกอบการในปี 2551 ของ UOBT ปรับตัวดีขึ้นโดยมีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิที่ 92 ล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง รายได้จากการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงน้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่เล็กกว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2552 ผลประกอบการของ UOBT อยู่ในระดับที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยมีกำไรสุทธิ 394 ล้านบาท (ลดลง 57% จากปีก่อน) เนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อและการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นหลังจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 11 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเหลือ 7.9 พันล้าน ณ สิ้นปี 2551 (ประมาณ 5% ของสินเชื่อรวม จาก 12% ณ สิ้นปี 2549) อย่างไรก็ตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8.7 พันล้านบาท (6% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 และยังคงมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง UOBT มีระดับสำรองหนี้เสียอยู่ที่ 6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 หรือ 69%ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของธนาคารไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เงินฝากมีสัดส่วนประมาณ 90% ของการระดมเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยเงินฝากประมาณ 70% มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้นอยู่ที่ประมาณ 31% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นจาก 23% ณ สิ้นปี 2551
เงินกองทุนของ UOBT อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคารไทย ธนาคารเพิ่งทำการเพิ่มทุนจำนวน 2.2 พันล้านบาทซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 20.37% เพื่อใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคต และเป็นการจำกัดความเสี่ยงของการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นในระยะยาว เนื่องจากการจำกัดการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นต่างชาติ
UOBT ก่อตั้งในปี 2482 โดยใช้ชื่อธนาคารเอเชีย และ UOB ของสิงคโปร์ได้เข้าซื้อหุ้นของ UOBT ในปี 2547 UOBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศไทยโดยมีสาขา 147 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาด 2% ในระบบสินเชื่อและเงินฝากในประเทศไทย ธนาคารมีจุดแข็งทางด้านการปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม SME และรายย่อย ปัจจุบัน UOB ถือหุ้น 99.66% ใน UOBT
ติดต่อ นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4763/4759