กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
6-8 พฤศจิกายน 2552: กุมารแพทย์ชั้นนำแห่งเอเชีย และผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อนานาชาติ ร่วมประชุมโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ครั้งที่ 5 มุ่งเน้นอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเอเชีย และความสำคัญของวัคซีนไอพีดีในการป้องกันการติดเชื้อนืวโมคอคคัสแทรกซ้อนโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก สาเหตุหลักของการเกิดโรคปอดบวมรุนแรงในช่วงฤดูหนาวซึ่งโรคระบบทางเดินหายใจระบาดหนัก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กเอเชียเพิ่มขึ้น
การประชุมโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เป็นการรวมตัวของกุมารแพทย์ชั้นนำแห่งเอเชีย และผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อนานาชาติ กว่า 350 คน จาก 15 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอความก้าวหน้าใหม่ๆในการรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส รวมทั้งเป็นการย้ำเตือนให้แพทย์เฝ้าระวังการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญจากโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่โรคติดเชื้อไวรัสระบาดหนัก เนื่องจากอากาศเย็นทำให้เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงเสมือนอีกหนึ่งการเรียกร้องจากเด็กๆในการสร้างเกราะป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (โรคไอพีดี) รวมทั้งยังเป็นการขอความร่วมมือในการเร่งลดอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเอเชียโดยเร็วที่สุด
เชื้อสเตปโตคอคคัส นิวโมเนียอี เป็นสาเหตุของการเกิดกลุ่มโรคติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ กลุ่มโรคไอพีดี ซึ่งประกอบด้วย โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดบวมรุนแรง รวมทั้งโรคหูน้ำหนวกอีกด้วย ซึ่งโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่คร่าชีวิตเด็กเล็กมากที่สุด โดยเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายสำคัญอันดับหนึ่งของเด็กเล็กทั่วโลก โดย 5 ใน 10 ประเทศที่พบอุบัติการณ์โรคไอพีดีมากที่สุดเป็นประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งล่าสุดองค์การสหประชาชาติ (UN) รายงานว่าปอดบวมก่อให้เกิดอัตราการตายในเด็กเอเชียสูงถึง 98 คนต่อชั่วโมง โดย 49 คน หรือร้อยละ 50 เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย จากการสำรวจอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบในจังหวัดสระแก้ว และนครพนมพบว่า มีอัตรา 12.3 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งใกล้เคียงกับอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในสหรัฐอเมริกาก่อนบรรจุวัคซีนไอพีดีในแผนวัคซีนแห่งชาติ (EPI) ในปี 2000 สำหรับอุบัติการณ์โรคปอดบวมจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2551 พบว่า มีอัตรา 43,247 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิตมากถึง 321 คน
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานงานประชุมโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสครั้งที่ 5 เปิดเผยว่า “จากข้อมูลสถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญ ที่กุมารแพทย์ทั่วโลกให้ความเป็นห่วง รวมทั้งการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนจากโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนดังกล่าวจะก่อให้เกิดโรคปอดบวมรุนแรง และจะมีความรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อที่ทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจในขั้นแรก โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตจากโรคปอดบวมซึ่งเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนถึงร้อยละ 50 ของการเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในเด็กเล็กทั่วโลกทุกๆ ปี
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นอกเหนือจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบว่าปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสยังมีอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะสูงมาก ทำให้การรักษามีความยากและซับซ้อนขึ้น ต้องใช้งบประมาณในการรักษาสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเสี่ยงที่เด็กๆ ที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัสอย่างรุนแรงอาจมีความพิการตามมา เช่น กรณีที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาจเสียชีวิตได้ พ่อแม่ควรจะเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาจะเป็นการดีกว่า เนื่องจากโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน”
“การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็กเล็ก เป็นการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ผลดีที่สุด ควรจะฉีดวัคซีนเมื่อเด็กมีอายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 12-15 เดือน ซึ่งมีผลการศึกษา และข้อมูลรับรองว่าวัคซีนไอพีดีช่วยลดอัตราการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับองค์การสหประชาชาติ (UN Development Goal) ที่ตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการตายของเด็กเล็กลง 2 ใน 3 ภายในปี 2015” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นอกเหนือกจากการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนไอพีดีแล้ว พ่อแม่ทุกคนสามารถป้องกันลูกน้อยจากเชื้อนิวโมคอคคัสด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำ และการปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม รวมทั้งการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ และปรึกษาแพทย์เพื่อเสริมสร้างภูมิกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย