กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOB ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่ ‘A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่ ‘A-(tha)’
อันดับเครดิตของ TISCOB สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม จากกการที่ TISCOB มีการพึ่งพาแหล่งเงินระยะสั้นเป็นหลักและการกระจายตัวของการระดมเงินไม่มากนักทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการระดมเงินและสภาพคล่องสูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพนั้น สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้ว่าธนาคารจะมีความเสี่ยงในด้านการระดมเงินและสภาพคล่องที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคารได้หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
จากการที่ TISCOB มีการพึ่งพาเงินฝากจากลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ของฐานเงินฝากของธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน หรือ B/E) อีกทั้งเงินฝากและหนี้สินส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นหนี้สินระยะสั้น ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แต่อย่างไรก็ตามการยืดระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนสำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยออกไปอีก 3 ปี คาดว่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของการระดมเงินของธนาคารในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น TISCOB มีแผนที่จะเพิ่มฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยให้มีสัดส่วนมากขึ้นในอีก 2 — 3 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 TISCO มีสัดส่วนลูกค้าเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 21% ของเงินฝากของธนาคารจาก 13% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2551
TISCOB มีกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาทในปี 2551 แม้ว่าธนาคารจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวน 0.4 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจำนวน 1.2 พันล้านบาท จากการขายเงินลงทุนในตราสารทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในการปรับโครงสร้างของกลุ่ม สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 ผลการดำเนินงานของ TISCOB ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านบาท จาก 2.4 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกปี 2551 อย่างไรก็ตาม TISCOB มีกำไรสุทธิลดลงเป็น 0.7 พันล้านบาท จาก 1.3 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายการบริการที่มีทางบริษัทแม่เป็นผู้ให้บริการ เนื่องจากกำไรสุทธิที่ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรต่อสินทรัพย์และอัตรากำไรต่อเงินทุนของ TISCOB ลดลงเป็น 1.2% และ 12.7% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 จาก 2.6% และ 22.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 แต่ TISCOB ยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 7.7% จากสิ้นปี 2551 หรือคิดอัตราการเติบโตต่อปีที่ 15.4% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่นที่ส่วนใหญ่มีสินเชื่อลดลง
TISCOB มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม (เมื่อเทียบกับปี 2551) ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 หรือประมาณ 2.4% สินเชื่อรวม สัดส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TISCOB ลดลงอย่างมากเป็น 62.5% ณ สิ้นปี 2551 จาก 76.3% ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากการตัดบัญชีลูกหนี้จำนวน 1.9 พันล้านในปี 2551 สัดส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 55.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 67% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ใช้ในการตัดบัญชีลูกหนี้
ถึงแม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ TISCO จะลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารได้มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงและมีการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แต่เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 10.1% และธนาคารมีเงินกองทุนรวมที่ 14.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ถึงแม้ว่าการใช้การคำนวณเงินกองทุนแบบ IRB ที่จะเริ่มใช้ในสิ้นปี 2552 อาจช่วยให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นเนื่องจากสินเชื่อรายย่อยมีน้ำหนักความเสี่ยงในการคำนวณที่ต่ำกว่า อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 9%
TISCOB ก่อตั้งในปี 2512 โดยมีฐานะเป็นบริษัทเงินทุน และได้เปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2548 หลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่มในเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลให้ TISCOB เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOFG TISCOB เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหลักในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 100% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด