กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
แผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกทม. ทั้งหมด 1,205 ชุมชน ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณ ดำเนินการแล้ว 289 ชุมชน จำนวนโครงการ 880 โครงการ ในวงเงิน 123 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 502 โครงการ คาดจะสามารถอนุมัติได้เร็วๆ นี้ เนื่องจากกทม. ให้อำนาจทุกสำนักงานเขตพิจารณาโครงการในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทแล้ว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกทม. วันนี้ (22 ธ.ค. 52) ว่า กรุงเทพมหานครน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เป้าหมายการดำเนินงาน มีชุมชนของกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1,205 ชุมชน แบ่งเป็นระยะที่ 1 (ปี 2548-2549) เป้าหมายจำนวน 210 ชุมชน มีชุมชนขอถอนโครงการ จำนวน 2 ชุมชน คงเหลือ 208 ชุมชน ระยะที่ 2 (ปี 2550) เป้าหมายจำนวน 500 ชุมชน ระยะที่ 3 (ปี 2551) เป้าหมายจำนวน 500 ชุมชน มีชุมชนขอถอนโครงการ จำนวน 3 ชุมชน คงเหลือ 497 ชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ในชุมชนเป้าหมาย 1,205 ชุมชน มีชุมชนที่ได้รับงบประมาณ 289 ชุมชน จำนวนโครงการ 880 โครงการ ในวงเงิน 123,118,725 บาท
จากการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเอง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นางทยา ทีปสุวรรณ) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ยังค้างอยู่ที่สำนักพัฒนาสังคม จำนวน 502 โครงการ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองแผนชุมชนฯ กลุ่มเขต มีการอนุมัติทั้งหมด 173 โครงการ อนุมัติในหลักการ 10 โครงการ ไม่อนุมัติ 32 โครงการ ให้ทบทวนหรือปรับปรุง 39 โครงการ ชะลอโครงการ 5 โครงการ และขอถอนเรื่อง 26 โครงการ
สำหรับการดำเนินการภายหลังการมอบอำนาจให้เขต คณะกรรมการอำนวยการจัดทำแผนชุมชนฯ ของแต่ละเขตจะเร่งดำเนินการในโครงการที่งบประมาณไม่เกิน 2 แสนบาท คาดว่าการดำเนินงานตามแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้มากขึ้นเนื่องจากคณะกรรมการระดับเขตจะมีความใกล้ชิดและสามารถลงพื้นที่ไปในชุมชนเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณาและรายละเอียดอื่น ที่สามารถอนุมัติงบประมาณได้ ซึ่งคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อหารือและกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน