กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงแผนงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553 ซึ่งกำหนดขึ้นจากการศึกษาปัจจัยแวดล้อมรอบด้าน รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตลาดทุนไทย โดยมีเป้าหมายให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้ ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงสินค้าการลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ผู้ประกอบการมีเครื่องมือการระดมทุนตามที่ต้องการ กฎเกณฑ์ต่างๆ เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและได้มาตรฐานสากล การกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
“การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแผนกลยุทธ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น ปัญหาด้านอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งแนวโน้มการรวมตัวและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ทำให้เกิดความต้องการในการลงทุนในตลาดทุนเพื่อผลตอบแทนและการกระจายความเสี่ยงที่ดียิ่งขึ้น
ในขณะที่การแข่งขันระหว่างตลาดทุนข้ามประเทศ ทั้งที่เป็นตลาดหลักทรัพย์รูปแบบดั้งเดิมและตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก (Alternative Trading System: ATS) กระตุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ได้ให้บทเรียนอันนำไปสู่แนวโน้มของการกำกับดูแลที่จะต้องมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดขวางการริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
พร้อมกันนี้ ในการกำหนดแผนงานในปีหน้า ก.ล.ต. ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 2553-2557 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีวิสัยทัศน์ให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวมจัดสรร และติดตามการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
แผนงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553 กำหนดไว้ 5 ด้าน ดังนี้
1. เชื่อมโยงกับต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ในวงอาเซียนและนอกวงอาเซียน โดยในวงอาเซียนจะมีเรื่อง ASEAN asset class ซึ่งตัวอย่างที่ได้มีภาคเอกชนดำเนินการแล้ว เช่น ASEAN ETFs และ ASEAN scale credit rating และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ เริ่มนำ ASEAN disclosure standard ของหุ้นและตราสารหนี้มาใช้เพื่อความสะดวกในการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศโดยไม่ต้องทำหนังสือชี้ชวนหลายชุด โครงการ ASEAN Common Exchange Gateway& ASEAN Board ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนเพื่อความสะดวกของผู้ลงทุนจากทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้จากจุดเดียว (single point of entry) โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 และการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ในอาเซียนจัดทำ ASEAN listing standard โดยคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนจะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2554-2555
สำหรับนอกวงอาเซียน เป็นเรื่องการเปิดให้ลงทุนในต่างประเทศ และการเปิดให้สินค้าต่างประเทศมาขายในประเทศไทยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น foreign listing และ foreign ETF เป็นต้น โดยระยะแรกผ่านตัวกลางในประเทศ และต่อมาอาจให้บริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศสามารถให้บริการข้ามประเทศได้สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน
2. เปิดเสรีการแข่งขัน เดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อยกเลิกการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปิดให้มีคู่แข่งอื่นได้เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกการจำกัดสิทธิการซื้อขายไว้เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ไทย และแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมาตรการขจัดการผูกขาดที่กล่าวมาได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยแล้ว
3. ผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรม สินค้าใหม่ที่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและ ก.ล.ต. มีแผนจะผลักดันให้เกิดในปี 2553 ได้แก่ infrastructure fund, sukuk, interest rate futures, venture capital, gold Exchange Traded Fund โดยในการผลักดันสินค้าและบริการใหม่นั้นจะคำนึงถึงระดับความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุนประกอบด้วยเพื่อรักษาระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนไว้อย่างเหมาะสม
4. ปรับปรุงการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นความสำคัญของการมีระบบติดตามที่ทันการณ์ สร้างความมั่นคงของบริษัทหลักทรัพย์และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะมีการปรับกฎเกณฑ์ เช่น การดำรงเงินกองทุน การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน ให้เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนจะต้องเพียงพอและง่ายต่อการทำความเข้าใจ มีการแบ่งระดับความเสี่ยงของลูกค้าและประเภทสินค้าตามระดับความซับซ้อนและความเสี่ยง โดยผู้ขายจะต้องเช็คสอบระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับส่งเสริมให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ในการเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เพื่อเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเอง รวมทั้งจะผลักดันมาตรการทางแพ่ง เพื่อให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ จะเพิ่มบทบาทของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้เป็นที่พึ่งของผู้ลงทุนมากขึ้น โดยปรับปรุงบทบาทในการรับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนรายย่อยใช้สิทธิเรียกร้องทางกฎหมายเมื่อเกิดข้อพิพาทและความเสียหาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น โดยเน้นมาตรฐานจรรยาบรรณและการมีบทลงโทษ ในส่วนของการกำกับดูแล จะเน้นกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแบบ outcome focused เพื่อให้มีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ ลดความเสี่ยงจากการใช้ดุลพินิจ โดย ก.ล.ต. ได้จัดตั้ง “โครงการบริหารการเปลี่ยนแปลง” ขึ้นเพื่อปฏิรูปกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติให้รองรับแนวทางกำกับดูแลข้างต้น เช่น โครงการปฏิรูปขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติการออกเสนอขายตราสารทุนและการปฏิรูปแนวทางการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เน้นการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น (more disclosure based) เป็นต้น
5. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนให้แก่ประชาชนตามแผนการให้ความรู้ผู้ลงทุนที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เน้นการรักษาสิทธิผู้ลงทุนและสร้างความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนแบบต่างๆ และส่งเสริมบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น นักวางแผนการลงทุน และที่ปรึกษา
การลงทุน ให้มีโอกาสศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่องและสร้างให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการลงทุนอย่างมีคุณภาพ”
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2552 เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมางานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ กำกับดูแลและส่งเสริมบรรษัทภิบาล สนับสนุนนวัตกรรมและเพิ่มความคล่องตัวธุรกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขัน และส่งเสริมการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ มีผลคืบหน้าตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด สรุปได้ดังนี้
1. กำกับดูแลและส่งเสริมบรรษัทภิบาล
- ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ได้ผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงข้อมูลผลการประเมินบรรษัทภิบาล ของบริษัทจดทะเบียนในบทวิเคราะห์ของบริษัท พัฒนาการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ด้วยการให้คำแนะนำและจัดอบรมให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนจนทำให้มีบริษัทได้ผลประเมินในระดับดีถึง 81% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทาง
การประชุมสัมมนาและตอบข้อหารือเพื่อให้เข้าใจหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ยกระดับที่ปรึกษาทางการเงินโดยผลักดันการปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพ นอกจากนี้ ได้ให้บริษัทจัดการกองทุน และบริษัทนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในการเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน
- ด้านการดูแลความเสี่ยงของระบบ ได้ปรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้รวมหนี้สินระยะยาวที่ไม่มีหลักประกันกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณเงินกองทุนขั้นต่ำด้วย และปรับเกณฑ์ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และสำนักหักบัญชีให้รัดกุมและเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องประเด็นความสมบูรณ์ทางกฎหมายของกระบวนการชำระราคาและส่งมอบ
- ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 9 คดี จำนวนผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวโทษ 33 ราย และมีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด 50 ราย รวมเป็นเงิน 74.98 ล้านบาท
2. สนับสนุนนวัตกรรมและเพิ่มความคล่องตัวธุรกิจ
- ออกหลักเกณฑ์รองรับสินค้าใหม่ เช่น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (gold futures) อ้างอิงทองคำหนัก 50 บาท ซึ่งเปิดซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีปริมาณการซื้อขายรวมจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2552 จำนวน 240,663 สัญญา หรือ 1,180 สัญญาต่อวัน และปรับปรุงหลักเกณฑ์ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ซึ่งเปิดให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ปัจจุบันมี DW ของ 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ PTT PTTEP และ KBANK มูลค่าซื้อขายรวม 655.14 ล้านบาท
- อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายทองคำขอเป็นตัวแทนในธุรกิจซื้อขายล่วงหน้าทองคำได้ โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวที่จำกัดเฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับทองคำจำนวน 5 ราย รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถแต่งตั้งตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นทองคำ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดช่องทางแก่ผู้ลงทุนมากขึ้น
- เพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่อนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลสามารถลงทุนได้เพิ่มเติม ได้แก่ ดัชนีเงินเฟ้อ และดัชนีกลยุทธ์การลงทุน โดยมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนธันวาคม 2552 รวมทั้งอนุญาตให้กองทุนเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตและเพิ่มความสามารถในการบริหารความเสี่ยง โดยมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมิถุนายน 2552
- ออกหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี กำหนดให้ใบทรัสต์เป็นหลักทรัพย์ และกำหนดประเภทธุรกรรมที่ใช้ทรัสต์ ซึ่งทรัสต์จะช่วยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552
- ลดระยะเวลาและขั้นตอนการอนุญาตการเสนอขายตราสารหนี้แบบเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มีฐานะดี (high net worth) โดยให้ได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไป และใช้เวลา filing เพียง 1 วันทำการ และสำหรับการเสนอขายตราสารหนี้แก่ผู้ลงทุนรายย่อย ลดระยะเวลาการยื่นแบบ filing สำหรับการเสนอขายครั้งแรกลงจาก 30 วันเป็น 14 วัน และสำหรับการเสนอขายครั้งต่อไป
ลดลงจาก 3 วันทำการ เหลือ 1 วันทำการ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2552
- อนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมแบบอัตโนมัติสำหรับกองทุนรวมที่ไม่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการขออนุมัติจัดตั้งและเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนในการวางแผนการขายและการลงทุน โดยหลักเกณฑ์นี้จะมีผลใช้บังคับภายในเดือนมกราคม 2553
- ลดข้อมูลที่ไม่จำเป็นในแบบรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน ในส่วนที่ไม่กระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและยังคงสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการลดภาระให้แก่บริษัทจดทะเบียนโดยหลักเกณฑ์นี้มีผลใช้บังคับกับผู้มีหน้าที่รายงานต่อ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 และต้องส่งรายงานในปี 2552
- สนับสนุนโครงการสะสมหุ้นสำหรับกรรมการหรือพนักงานของบริษัทจดทะเบียน (Employee Joint Investment Program: EJIP) โดยยกเว้นการรายงานการถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน หากเป็นการได้หุ้นของบริษัทจดทะเบียนตามโครงการ EJIP มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2552
3. สร้างศักยภาพการแข่งขัน
- เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อยกเลิกการผูกขาดการประกอบกิจการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดสิทธิการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯให้แก่ผู้ร่วมตลาดที่ไม่ใช่สมาชิก และปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการระดมทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยได้ผลักดันให้เป็นมาตรการสำคัญอันดับแรกในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
4. ส่งเสริมการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
- ร่วมกับ ก.ล.ต. อื่นในอาเซียนจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาตลาดทุนสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน (Implementation Plan) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน 2552
- ร่วมกับ ก.ล.ต. ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ประกาศใช้เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (ASEAN and Plus Standards) สำหรับการเสนอขายข้ามประเทศ โดยเกณฑ์ตราสารหนี้และตราสารทุนมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมีนาคมและธันวาคม 2552 ตามลำดับ
- เปิดให้บริษัทต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกขององค์การตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) สามารถเข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552
- เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศเผยแพร่คำแนะนำในการลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ไทยได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนหรือที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยหลักเกณฑ์นี้จะมีผลใช้บังคับภายในต้นปี 2553
- ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การให้วงเงินเพิ่มสำหรับผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) ในการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำในตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศ และอีทีเอฟทองคำในต่างประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ market maker ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น การเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศได้เพื่อเป็นทางเลือกในการหาผลตอบแทนจากการลงทุนจากเดิมที่จำกัดเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์หลักทรัพย์ต่างประเทศ ตลอดจนการเปิดให้ผู้ลงทุนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาต่างประเทศเพื่อการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ฝ่ายงานเลขาธิการ : 0-2695-9502-5 e-mail : press@sec.or.th