วงการแพทย์ไทย ประสบความสำเร็จค้นพบแนวทางการรักษาโรคหืด ด้วยการจัดทำเครือข่ายคลินิกโรคหืดอย่างง่ายทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 23, 2009 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค ปัญหาการรักษาโรคหืดเกิดจากทั้งผู้ป่วยและ แพทย์ที่มองว่าการรักษาโรคหืดมีความยุ่งยากซับซ้อน แต่ภายหลังได้มีการจัดทำโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อย่างง่าย: Easy Asthma & COPD Clinic (EACC) Network ขึ้น โดย เริ่มต้นจากโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ส่งตัวแทนจาก 3 ฝ่ายคือ แพทย์ พยาบาลและเภสัชกรเข้าร่วมอบรมด้วยแนวทางเดียวกัน พร้อมด้วยนวัตกรรมข้อมูลออนไลน์เป็นระบบฐานข้อมูลสำหรับการประมวลผลอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดสถิติผู้ป่วยโรคหืดพบแพทย์ฉุกเฉินและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อย่างง่าย: Easy Asthma & COPD Clinic Network ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศในโครงการประกวดเครือข่ายคลินิกโรคหืด Easy Asthma and COPD Clinic Network Excellence Award ครั้งที่ 6 ว่า วงการแพทย์ไทยประสบความสำเร็จกับการค้นพบแนวทางการรักษาโรคหืดอย่างง่าย ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนก็สามารถรักษาผู้ป่วยโรคหืดได้ตามมาตรฐานโลก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นจากโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งตัวแทนจาก 3 ฝ่ายคือ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเข้าร่วมอบรม เพื่อให้เข้าใจในแนวทางการรักษาโรคหืดที่ถูกต้องและรูปแบบการทำงานเป็นสหวิชาชีพ การทำงานที่เป็นระบบ ประสานกันเป็นทีม และบุคลากรของทีมมีความรู้ความเข้าใจการรักษาโรคหืดในแนวทางเดียวกัน ซึ่งกระบวนการรักษาดังกล่าว ทำให้การรักษาโรคหืดของไทยได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามที่ GINA Guidelines กำหนด รวมทั้งโครงการฯ ยังได้รับความสนใจจากสำนักพัฒนาคุณภาพบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. โดยได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดอย่างมีระบบของหน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบของ สปสช. สาขาพื้นที่ขอนแก่น (เขต 7) โดยมีโรงพยาบาล 98 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ทำให้มีการใช้ยาพ่นสูดสำหรับการรักษา หรือที่เรียกว่ายาพ่นเสตียรอยด์ เพิ่มขึ้นจาก 25.95 เปอร์เซ็นต์ เป็น 71.71 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบรุนแรงลดลง และสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบรุนแรงเฉียบพลันได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ถึง 26 โรงพยาบาล นอกจากนี้ เวทีการประกวดคลินิกโรคหืดในโครงการ EACC Excellence Award & Peer Recognition Award ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นครั้งล่าสุด ยังมีส่วนสนับสนุนและเปิดโอกาสให้แต่ละโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกได้ส่งผลงาน ขั้นตอนและแนวทางในการรักษาผู้ป่วยของตน เข้าร่วมประกวดในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการ และ Presentation เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และยังเป็นการช่วยสร้างเสริมกำลังใจให้กับบรรดาสมาชิกที่ได้ร่วมกันสละเวลาจัดตั้งคลินิกขึ้นสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหืด และหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งการจัดประกวดของโครงการฯ ในปีนี้ โรงพยาบาลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ นายแพทย์อัครวิชญ์ งามเอกเอื้อ หัวหน้าทีมคลินิกโรคหืดอย่างง่ายโรงพยาบาลยางตลาด จ. กาฬสินธุ์ กล่าวภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ EACC Excellence Award 2009 & Peer Recognition Award ครั้งที่ 6 ว่า การที่ทีมได้รับรางวัลทั้งสองประเภทในครั้งนี้ น่าจะมาจากการนำเสนอผลงานของทีมที่สามารถตอบโจทย์ของคณะกรรมการได้ คือ พยายามที่จะผลักดันแผนงานการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลชุมชนเข้าไปให้ถึงระดับตำบล และผลักดันต่อไปถึงชุมชน มีแพทย์ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านบ้าง ทำให้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล และ ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศดังกล่าว “ภาพรวมของโครงการฯ พบว่ามีประโยชน์ มีข้อดีหลายประการ เพราะทำให้แนวทางการรักษาโรคหืดในแต่ละโรงพยาบาลมีการบันทึกไว้ในรูปของนวัตกรรมข้อมูลออนไลน์มีการผสมผสานเข้าด้วยกันทำให้แนวทางการรักษาโรคหืดของแต่ละโรงพยาบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการรักษาที่เป็นระบบทำให้เกิดข้อดี พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น แพทย์เปลี่ยนให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมีอัตราการใช้ยาพ่นฉุกเฉินลดลง ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบ และในที่สุดผู้ป่วยสามารถถึงเป้าหมายของการควบคุมโรคหืดได้” นายแพทย์อัครวิชญ์กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: คุณปาริชาติ สุวรรณ์ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร.02-439-4600 ต่อ 8204 ,อีเมล์ paricharts@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ