วว. สรุปผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2552 สร้างธุรกิจใหม่ ลดการนำเข้าเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Wednesday December 23, 2009 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--วว. นายอนันต์ รุ่งพรทวีวัฒน์ รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจและการตลาด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวชี้แจงผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลงานในรอบปี 2552 ว่า สามารถผลิตผลงานเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมย้อนรอยเพื่อการแพทย์ไทยในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนป้องกันโรคระบาด ด้านกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนาระบบบริการการแพทย์พื้นฐาน นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหารไทยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โครงการบูรณาการไพลเพื่อการใช้ประโยชน์สมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิดและสัตว์ชนิดใหม่ของโลก 1 ชนิด อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ยังประสบผลสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์เพื่อการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 4 ผลงาน ช่วยสร้างธุรกิจใหม่ สร้างอาชีพ ลดการนำเข้าเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ ผลงานเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ วิศวกรรมย้อนรอยเพื่อการแพทย์ไทย วว. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัทเอ็นอาร์ อินดัสทรีส์ จำกัด และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วิจัยและพัฒนา “เครื่อง Freeze Dryer เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนและเซรุ่ม” มีประสิทธิภาพในการทำแห้งด้วยความเย็นสูง เป็นการรักษาคุณภาพของวัคซีนและเซรุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนป้องกันโรคระบาด ลดการนำเข้าเครื่องจักรและวัคซีนจากต่างประเทศ เทคโนโลยีกายภาพบำบัด วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด” ซึ่งตัวเครื่องมีราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 50% มีประโยชน์ช่วยการเคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่องหลังการผ่าตัด ฟื้นฟูสภาพข้อเข่ากลับสู่ปกติได้เร็ว ลดระยะเวลาในการพักฟื้นและเวลาการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในด้านบริการทางการแพทย์พื้นฐานสู่พื้นที่ต่างๆของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างฐานเทคโนโลยีกายภาพบำบัดสำหรับส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป ได้แก่ ไหล่ นิ้วมือ และข้อเท้า เป็นต้น และวิจัยพัฒนา “แผ่นประคบร้อน Tistra — Pack” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้ความร้อนลดอาการปวดในบริเวณที่ต้องการบำบัด เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้ทั่วไปในสถานพยาบาลที่มีแผนกกายภาพบำบัด โดย วว. ทำการพัฒนาวัสดุบรรจุแผ่นประคบร้อนจากแร่ธรรมชาติ ที่สามารถเก็บความร้อนได้นานและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหารไทย วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา “เครื่องปอกเปลือกกระเทียม” สามารถปอกกระเทียมได้ดีทุกขนาดทั้งกระเทียมไทยหรือกระเทียมจีน กำลังการผลิต 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการปอกเปลือกกระเทียมสูงมากกว่า 90% โดยไม่มีการช้ำ แตก หัก เสียหายของเนื้อกระเทียม สามารถแยกเปลือกกระเทียมและเนื้อกระเทียมออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ และประสบผลสำเร็จพัฒนา “เครื่องสกัดน้ำผลไม้ ” คั้นน้ำผลไม้ได้หลายชนิด อาทิ ลองกอง ลำไย องุ่น เป็นต้น ใช้หลักการกรองหยาบและละเอียด โดยสามารถแยกกากและน้ำออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ สะอาด ถูกสุขอนามัย มีกำลังการผลิต 300 ลิตร/ ชั่วโมง โดยไม่ทำให้เมล็ดแตก ส่งผลให้รสชาติของน้ำผลไม้ที่ได้มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค บูรณาการไพลเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย วว. ดำเนินการจัดทำชุด “โครงการบูรณาการไพล” ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จาก “ไพล” อย่างครบวงจร ซึ่งผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นถึงสรรพคุณอันหลากหลายของไพลมากขึ้น และประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ชนิด คือ “ผลิตภัณฑ์ไพลจีนิค” เป็นผลิตภัณฑ์แผ่นผ้าอนามัยเช็ดทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นภายนอกสำหรับสตรี มีผลในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคสตรี เช่น เชื้อก่อโรคในช่องคลอด เป็นต้น และยังสามารถใช้กำจัดเชื้อที่ปนเปื้อนตามพื้นผิวสุขภัณฑ์ ซึ่งมีลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์คือ มีน้ำมันไพลเป็นองค์ประกอบหลัก และมีความเป็นกรดอ่อนใกล้เคียงกับสภาวะภายในปรกติของช่องคลอด และประสบผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ไพลซิดัลกำจัดเห็บ หมัด สำหรับสุนัข” มีจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แชมพู สเปรย์ และโลชั่น มีประสิทธิภาพในการกำจัดเห็บและหมัดสำหรับสุนัขได้ 100% ภายใน 30-60 นาที ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามวิธีมาตรฐาน OECD พบว่าไม่ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังและมีความปลอดภัยสูงทั้งจากการกินหรือซึมผ่านทางผิวหนัง ค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลก วว. ประสบผลสำเร็จในการค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีความหลากหลายของพรรณไม้และสัตว์นานาชนิด รวมทั้งเป็นเครื่องการันตีว่านักสำรวจและนักวิจัยของไทยมีศักยภาพในการปฏิบัติงานให้เป็นผลสำเร็จ ในปี 2552 วว. ค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่ ดังนี้ ลำดับ โครงการวิจัย ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลาดจำหน่าย 1 เครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด บริษัทบุญซับพลาย จำกัด ประเทศไทย 2 ผลิตภัณฑ์แผ่นผ้าอนามัยไพลจีนิค หจก.ฟ้าใสสมุนไพร ประเทศไทย สปป.ลาว ญี่ปุ่น ยุโรป 3 ผลิตภัณฑ์ไพลซิดัล บริษัทไทยโปรดักส์ ประเทศไทย ญี่ปุ่น อินโนเวชั่น จำกัด 4 ผลิตภัณฑ์แผ่นประคบร้อน บริษัทบุญซับพลาย จำกัด ประเทศไทย พืชชนิดใหม่ของโลก ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. และทีมวิจัย ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่อง “ การรวบรวมและจำแนกพรรณไม้วงศ์กระดังงา” จาก โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) ค้นพบ “ปาหนันชนิดใหม่ของโลก” จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ - ปาหนันเมืองกาญจน์ ค้นพบที่อำเภอสังขละและทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีฤดูดอกในเดือนมีนาคม ดอกจะบานอยู่ได้ 2-3 วัน เมื่อดอกบานจะมีกลิ่นหอม ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดิบชื้นตามริมลำธารบริเวณเขาหินปูน ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดแก่หรือต้นกล้าจากถิ่นกำเนิดไม่สามารถปรับตัวในพื้นที่เพาะปลูกใหม่ได้ จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จในการนำไปเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง - ปาหนันแม่วงก์ ค้นพบที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตจังหวัดกำแพงเพชร มีฤดูดอกในเดือนมีนาคม ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน มีผลแก่ในช่วงเดือนกันยายน ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดิบเขาที่มีระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามริมลำธารบนภูเขาที่มีอากาศเย็นและชื้น ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการนำต้นกล้าและเมล็ดแก่ไปเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง -ปาหนันร่องกล้า ค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก มีฤดูดอกในเดือนมีนาคม ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน เมื่อดอกบานจะมีกลิ่นหอม มีผลแก่ในช่วงเดือนกันยายน ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาที่มีระดับความสูง 600-1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามริมลำธารบนภูเขาที่มีอากาศเย็นและชื้น ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการนำต้นกล้าและเมล็ดแก่ ไปเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง สัตว์ชนิดใหม่ของโลก ทีมนักวิจัยสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา และ Mr. DAVID S.McLEOD นักวิจัยระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแคนซัส ค้นพบ “กบหัวใหญ่โคราช” สัตว์ชนิดใหม่ของโลก บริเวณพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กบหัวใหญ่โคราช หรือ กบปากใหญ่โคราช มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes megastomias McLEOD, 2008 มีชื่อสามัญว่า Khorat big - headed frog มีลักษณะเด่นคือ ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ลำตัวยาวและส่วนของหัวค่อนข้างกว้าง บนหัวระหว่างตาทั้งสองข้าง มีรอยพับของแผ่นหนังพาดขวางด้านท้ายของตาหรือตรงขอบท้ายของแถบสีดำ และมีรอยพับของผิวหนังจากด้านท้ายตาลงไปที่ส่วนต้นของขาหน้า ทั้งนี้มีการตีพิมพ์เป็นกบพันธุ์ใหม่ของโลกในวารสาร ZOOTAXA โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพเสริมสร้างมิตรภาพความร่วมมือไทย-เกาหลี วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ : ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลี ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้แทนเยาวชนไทย-เกาหลีเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 40 คนก่อให้เกิดต้นแบบของค่ายวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และเกิดแนวความคิดของชิ้นงานวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของทั้งสองประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 4 ผลงาน สร้างธุรกิจใหม่ ช่วยลดการนำเข้าเวชภัณฑ์และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจโดยรวม ดังนี้ ความร่วมมือกับต่างประเทศ วว. แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำจากนานาประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพด้านการวิจัยในหลากหลายสาขา ดังนี้ - พัฒนาเทคโนโลยีก๊าซสังเคราะห์คุณภาพสูงจากชีวมวลเพื่อประยุกต์ใช้ในประเทศไทย กับ University of California Riverside ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตั้งศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลในอนาคต - ดำเนินการวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชสบู่ดำ กับ Science and Technology Research Institute (STRI) ,สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว -ดำเนินการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมมเบรน กับ Tianjin Motian Membrane Eng.&Tech.Co.Ltd. (TMMETC) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และจะมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติทดสอบคุณภาพเมมเบรน ณ วว. เทคโนธานี จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำร่องโครงการฯ -พัฒนาเทคโนโลยีก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลให้มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผลิตจากเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น กับ Kansai Corporation ประเทศญี่ปุ่น -ดำเนินการวิจัยผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารเพื่อใช้กับรถยนต์ กับ Japan International Corporation Agency (JICA) ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก วว. ได้ที่ เลขที่ 35 หมู่ 3 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th http// www.tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ