การใช้สิทธิ GSP เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 : ผู้ส่งออกใช้เป็นแต้มต่อเจาะตลาดส่งออก

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2009 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า แม้ว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของตลาดส่งออกสำคัญก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 (เดือนมกราคม — กันยายน) มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกสินค้าในทุกระบบมีสัดส่วนถึงร้อยละ 54.40 เทียบกับร้อยละ 37.25 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.04 ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับสิทธิ GSP จากประเทศคู่ค้ารวม 44 ประเทศ แบ่งได้เป็น 8 ระบบ ได้แก่ GSP สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี นอร์เวย์ รัสเซีย แคนาดา และญี่ปุ่น โดยระบบ GSP ที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของไทย และมีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ GSP สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และตุรกี ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีการขอใช้สิทธิ GSP สหภาพยุโรปมูลค่า 4,809.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการขอใช้สิทธิที่ร้อยละ 59.35 ขณะที่ การขอใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ มูลค่า 2,046.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการขอใช้สิทธิที่ร้อยละ 48.68 และการขอใช้สิทธิ GSP ตุรกีมูลค่า 275.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนของการขอใช้สิทธิที่ร้อยละ 63.24 สำหรับสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิที่สำคัญ 10 ลำดับแรก ได้แก่ เลนส์ เครื่องประดับเงิน น้ำมันหล่อลื่น รถปิกอัพ เครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง สับปะรดกระป๋อง ยางเรเดียล กรดเทเรฟทาลิก และกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น ระบบ GSP นับเป็นระบบสิทธิพิเศษฯ อย่างหนึ่ง ที่ประเทศพัฒนาแล้วยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าแก่สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการใช้สิทธิ GSP ในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคธุรกิจส่งออกของไทยยังไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษจากระบบ GSP อย่างเต็มที อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form A และกำกับดูแลการใช้สิทธิ GSP ต่าง ๆ ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบหรือข้อกำหนดของระบบ GSP อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อขยายส่วนแบ่งในตลาดของประเทศพัฒนาแล้วต่อไป ทั้งนี้ ผู้สนใจขอทราบข้อมูลระบบ GSP สามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0-2547-4819 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 และอาจติดต่อทางเว็บไซด์ www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ