กล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทโรคประหลาด รักษาผิด มีสิทธิ์เจ็บตัวฟรี

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตประจำวันของคุณ คือนั่งทำงานในออฟฟิศแทบทั้งวัน หรือแม้กระทั่งการนั่งขับรถอยู่บนท้องถนนเมืองกรุงที่นับวันการจราจรกำลังจะอัมพาต จนทำให้ต้องเหนื่อยล้าเกินกว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีอาการปวดตามบ่า ไหล่ ตามสะโพก จากนั้นค่อยๆ ขยายอาการออกมากขึ้น จนปวดร้าวไปถึงปลายมือ ปลายขา มีความทุกข์ทรมาณจากอาการปวดทำอย่างไรก็ไม่หายขาด ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะนึกอาการปวดที่ว่านั้น ต้องมาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเพียงอย่างเดียว ซ้ำร้ายบางรายไปตรวจวินิจฉัย พบความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้างตามวัย หากผ่าตัดที่กระดูกสันหลังอาจจะไม่หาย เพราะสาเหตุจากอาการปวดเกิดจาก กล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท!! หลายคนยังข้องใจ และยังไม่เข้าใจว่า โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท คือโรคอะไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ อาการต่างจากหมอนรองทับเส้นอย่างไร โรคนี้เรื้อรังหรือไม่ ต้องรักษานานแค่ไหน เราจะทราบและสังเกตอาการตัวเองได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคนี้ แล้วเราจะรักษากันอย่างไร หลีกเลี่ยงการถูกผ่าตัดโดยไม่จำเป็นได้อย่างไร น.อ.นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการศูนย์รวมการรักษากระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok hospital comprehensive spine center) ให้ความกระจ่างว่า โรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท นั้นจะมีอาการปวดร้าว และ ชา ไปตามแขน หรือ ขา มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้มากๆ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังเอง ก็มักจะแยกทั้งสองโรคกันออกได้ไม่ 100% อย่างไรก็ตาม ถ้าซักประวัติให้ละเอียดดีๆ จะพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนี้ มักจะมีอาการปวดบริเวณสะโพกนำมาก่อน และค่อยๆ ลามลงชาไปจนถึงปลายเท้า หรือ ปวดบริเวณคอ หัวไหล่ แล้วค่อยๆ ลามไปถึงปลายแขน “ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดรุนแรงกว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเสียอีก นอนตอนกลางคืนจะปวดมากจนนอนไม่หลับ เวลาเปลี่ยนท่า อย่างการเดินแรกๆ มักจะปวดสะโพกลงขา แต่พอเดินๆ ไประยะทางหนึ่งจะค่อยๆ หายปวดขา ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อต้นคอ เวลาขยับกล้ามเนื้อคอจะมีอาการปวดเสียวอย่างแรงเหมือนไฟฟ้าช็อตไปที่แขนได้ ซึ่งอาการนี้คล้ายคลึงกับในโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก” น.อ.นพ.ทายาท กล่าว ในเมื่อโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากๆ จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป โดยการทำ MRI ที่กระดูกสันหลังดูด้วยว่ามีโรคทางกระดูกสันหลังร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งบ่อยครั้ง พบว่า ทั้งสองโรค (โรคกล้ามเนื้อและโรคของหมอนรองกระดูก) สามารถเกิดร่วมกันได้เสมอๆ และต้องระวังอย่านำผู้ป่วยที่ปวดอย่างรุนแรงไปผ่าตัดเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยผ่าตัดแล้วไม่หายปวดโดยสนิทได้ เพราะการผ่าตัดกระดูกสันหลังไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัวได้เลย ในผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษา พบว่า จะมีอาการชาที่ฝ่าเท้า น่อง หรือปลายนิ้วเท้า ไม่เลือกเวลา เป็นๆหายๆ บางทีก็เป็นหนัก บางทีก็หายไป ไม่ทราบสาเหตุ เชื่อกันว่าอาการนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบส่งความรู้สึกประหลาดนี้มาที่ขาได้ บางรายเวลานั่งนานๆ จะมีอาการปวดที่แก้มก้น หรือเปลี่ยนอริยาบทจากนั่งเป็นยืน หรือเริ่มก้าวเดินแรกๆ จะปวดที่ก้นได้ ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมากๆ จะมีอาการชาหรือเสียวเวลาถูกลมเบาๆ หรือถูกสัมผัสเบาๆ มีความรู้สึกซู่ซ่าที่น่องหรือปลายเท้า รู้สึกเย็นๆ มีขนลุกซู่เป็นครั้งคราว เรามีชื่อเรียกอาการนี้ว่า allodynia คือ ไวต่อสิ่งสัมผัสมากเกินไป สำหรับกล้ามเนื้อที่พบบ่อยว่ามีการหนีบทับเส้นประสาทส่วนขา และสับสนกับโรคของหมอนรองกระดูกทับเส้นได้บ่อยๆ คือ กล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า พิริฟอร์มิส (Piriformis) จึงมีผู้ใช้ชื่อโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทขาว่าพิริฟอร์มิสซินโดรม (Piriformis Syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวตามขาเรื้อรัง และมีอาการปวดสะโพกบริเวณที่นั่งทับ อาจจะมีอาการเล็กน้อย จนถึงขั้นรุนแรง และเดินไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายได้รับการทำ MRI หวังว่าจะพบกระดูกทับเส้น แต่ผลพบว่ากระดูกสันหลังปกติทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ที่โชคร้ายกว่านั้นคือ ผู้ป่วยบางรายผล MRI มีหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือผิดปกติเพียงเล็กน้อยแต่ด้วยความปวด ทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่กระดูกสันหลังไป แต่ไม่หายปวด!! ซึ่งเป็นเพราะมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหนีบทับเส้นประสาทนี้ แฝงอยู่แต่เดิมนั่นเอง ด้าน พญ. สุชีลา จิตสาโรจิตโต ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวถึงโรคนี้ว่า กล้ามเนื้อของมนุษย์ซึ่งมีประมาณ 600 มัดนั้น เปรียบเสมือนเป็นมอเตอร์ให้ร่างกายของมนุษย์ขับเคลื่อนไปได้ โดยทำงานตลอดเวลาไม่มีพัก จึงไม่แปลกที่กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีอาการป่วยได้ โดยส่งสัญญาณเป็นอาการปวดร้าวตามร่างกายส่วนต่างๆ แต่โชคร้ายที่เราไม่สามารถแสดงอาการป่วยของกล้ามเนื้อนี้ได้จากเอ็กเรย์ หรือ MRI “กล้ามเนื้อของมนุษย์นั้น มีลักษณะเฉพาะตัวคือ แข็งแรง ทนทาน และยืดหยุนได้ หากอันใดอันหนึ่ง ทำงานไม่ปกติมีการตึงตัวหรือยืดหยุ่นน้อยลง ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดขึ้นมาได้ ที่สำคัญหากกล้ามส่วนไหนมีเส้นประสาททอดผ่าน และ มีการยืดหยุ่นน้อยลง มีการเกร็งหนีบเส้นประสาทไว้ ก็จะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทนั้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถส่งปัญหาไปถึงกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ให้ป่วยตามไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วกล้ามเนื้อของคนเราจะเสื่อมลงเฉลี่ยปีละ 1 เปอร์เซ็นอยู่แล้ว” สำหรับการฟื้นฟูและการบำบัดนั้น ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก จะต้องมีการทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด และคลายกล้ามเนื้อ อาทิ การใช้ความร้อนทั้งแบบพื้นผิว หรือ แบบลึกไปสู่กล้ามเนื้อชั้นลึก หรือแม้กระทั่งการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือ การฝังเข็มให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ ด้าน พ.ญ.ลักษมี ชาญเวชช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระงับปวด กล่าวว่า ในบางครั้งอาการปวดจากกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทนี้ มีความรุนแรงมากจนผู้ป่วยแทบทนไม่ไหว จนต้องพึ่งพาแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวด (Pain Specialist) ให้มีส่วนช่วยในการดูแลผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง เช่น วิธีการสกัดกั้นการนำประสาทไซอาทิก (sciatic nerve block) เป็นต้น มาใช้ โดยใช้การฉีดยาเฉพาะที่เข้ารอบๆ เส้นประสาท และ กล้ามเนื้อที่หดเกร็ง นอกจากนี้ยังมีการนำเทคนิคทั้งการใช้อัลตราซาวด์และการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เพื่อทำให้การหาตำแหน่งมีความแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคกล้ามเนื้อดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้หายได้โดยทันที ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาระยะหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวหนีบเส้นประสาทอยู่นั้นคลายตัวได้ถาวร ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาจะมีลักษณะคล้ายการปวดตามแนวของเส้นประสาท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวินิจฉัยแยกโรค “กล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท” ร่วมด้วยเสมอ หากรักษาโรคกล้ามเนื้อก่อนแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ต้องถูกผ่าตัดโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหา “ผ่าตัดแล้วไม่หายปวด” โดยแพทย์ผู้ชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation) จะเป็นผู้ที่ทำการรักษาสภาวะผิดปกตินี้ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของที่ผู้ป่วยทุกรายควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์ด้านเวชศาตร์ฟื้นฟู เพื่อแยกโรคทางกล้ามเนื้อออกก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัด เราเรียกการรักษาผู้ป่วยร่วมกันระหว่าง ศัลยแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยทั้งแพทย์สาขาอื่นๆนี้ว่าการรักษาแบบ Comprehensive Approach ปัจจุบันโรคนี้พบบ่อยในคนไทยมากขึ้น และการรักษาจะต้องใช้ความชำนาญ และการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ในการรักษานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของแพทย์หลายท่านร่วมกัน ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถที่จะตรวจพบจากเครื่องมือใดๆ และเป็นโรคที่เป็น “ยาดำ” แฝงตัวอยู่ในภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอและส่วนเอวได้เสมอๆ ทางแทพย์จึงต้องระลึกถึงก่อนลงมือผ่าตัด ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยอาจจะต้องเจ็บตัวฟรีๆ คือผ่าตัดแล้วแต่อาการปวดยังเหมือนเดิม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 089-1203073 วนาลี จันทร์อร่าม
แท็ก ลายมือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ