เกษตรฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องหวังเร่งอุดช่องว่างความเสียเปรียบด้านการค้าสินค้าเกษตรให้ตรงจุด

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรฯ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องหวังเร่งอุดช่องว่างความเสียเปรียบด้านการค้าสินค้าเกษตรให้ตรงจุด เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาฟต้า นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องยกเลิกโควตานำเข้า และลดภาษีสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (AFTA) ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าเกษตรจำนวน 23 รายการที่จะต้องยกเลิกโควตา และลดภาษีเป็น 0 % ยกเว้น เมล็ดกาแฟ มันฝรั่ง และเนื้อมะพร้าวแห้งที่ภาษีเป็น 5 % ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศยกเลิกแล้ว 13 รายการ เหลืออีก 10 รายการอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ จากข้อมูลการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอาเซียนจำนวนประมาณ 146,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมีเพียงประมาณ 44,400 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 102,000 ล้านบาท ในภาพรวมจึงถือว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า ในการเปิดเสรีการค้าไทยอาเซียน เนื่องจากไทยมีศักยภาพการผลิตสูงกว่าประเทศในอาเซียน โดยคาดว่าผลจากการที่อาเซียนจะลดภาษีเป็น 0% ทำให้ GDP ของไทยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.75% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 204,000 ล้านบาท โดยผลดีจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในกรอบอาฟตา คือ ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้น และสินค้าวัตถุดิบนำเข้ามีราคาถูกลง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออก ขณะเดียวกัน ยังทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการตื่นตัว มีการปรับตัวด้านการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ สำหรับเกษตรกรบางสาขาอาจได้รับผลกระทบ เช่น ปลายข้าวหักที่นำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามข้อตกลง แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในภาพรวมของประเทศ รวมถึงสินค้าชนิดอื่น กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางรองรับการปรับตัวของภาคเกษตรและภาคเอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีอาฟต้า รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการบริหารการนำเข้าและควบคุมการนำเข้า เช่น กำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านทางชายแดน เป็นต้น จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการชี้แจงข้อมูลและสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง คือ ที่ จ.สระแก้ว จ.เชียงราย และจ.หนองคาย พบว่า เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าในกรอบอาฟตา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าในกรอบอาฟตามากยิ่งขึ้น รวมทั้งการให้ข้อมูลการขอใช้เงินกองทุน FTA เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะเป็นการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ แม้ว่าเกษตรกรไทยจะมีความพร้อมระดับหนึ่ง และสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้ แต่กระทรวงเกษตรฯ จะให้การสนับสนุนในด้านปัจจัยพื้นฐานแก่เกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดหาแหล่งน้ำ และพัฒนาระบบชลประทานให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร การสนับสนุนข้าวพันธุ์ดีและปาล์มพันธุ์ดี ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มผลผลิต และต้านทานต่อโรคระบาด การส่งเสริมการทำเกษตรตามระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์ และการกำหนดมาตรการนำเข้า ที่เข้มงวดและปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ จะมีการสัมมนาในเรื่อง FTA อีก 1 ครั้ง ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ ที่ จ. กระบี่ จะนันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปาล์มน้ำมัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความยินดีและพร้อมที่จะนำข้อคิดเห็นที่ได้รับนำมาปรับปรุง และพัฒนามาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนให้เกิดความรัดกุม ไม่ให้ภาคเกษตรกรรมของไทยต้องเสียเปรียบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสินค้าสำคัญที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง เช่น ข้าว แม้ตามข้อตกลงไทยจะไม่เสียเปรียบ เพราะนำเข้าเฉพาะข้าวเพื่อการอุตสาหกรรม คือ ข้าวหัก แต่เกรงว่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีการเคร่งครัดในด่านชายแดนเป็นพิเศษ โดยการทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจาก ด่านศุลกากร ทหารและตำรวจในการช่วยดูแล พร้อมกับต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าว และส่งเสริมการตลาดภายในประเทศอย่างจริงจังต่อไป หมายเหตุ สินค้าเกษตรที่มีโควตาภาษี (Tariff Rate Quota — TRQ) 23 รายการ ประกอบด้วย น้ำนมดิบ/นมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริกไทย มันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไหมดิบ ลำไยแห้ง เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ชา น้ำตาล และใบยาสูบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ