เกษตรฯ เร่งคลอดระบบประกันภัยพืชผลการเกษตร หลังถกหลักเกณฑ์ภายใต้รูปแบบกองทุนฯพร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณา

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 13:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการศึกษา เพื่อสร้างระบบการประกันความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมโดยระบบสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติ สำหรับการผลิตข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้พิจารณาผลการศึกษาทั้งหมด และเห็นควรดำเนินการโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรขึ้นตามความเห็นเดิมของกระทรวงการคลัง โดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งในการดำเนินงานกองทุนให้ความช่วยเหลือเสมือนการรับประกันภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติอื่น ๆ ที่เกิดกับพืชผลทางการเกษตร โดยให้ความคุ้มครองค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย และต้นทุนการผลิตทั้งหมด ราคา ปริมาณผลผลิต และรายได้จากการผลิตในพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกำหนดให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ต้องจดทะเบียนกับกองทุนฯ สำหรับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดให้ความคุ้มครอง และช่วยเหลือเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ระดับพื้นฐาน รัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยทั้งหมด(100%) คุ้มครองต้นทุนการผลิตเฉพาะค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ในลักษณะเดียวกับที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลืออยู่เดิมในปัจจุบันไร่ละ 606 บาท เมื่อเกิดภัยพิบัติ ชดเชยหรือช่วยเหลือเฉพาะค่าพันธุ์ และค่าปุ๋ย ระดับที่ 2 ระดับต้นทุนการผลิต เกษตรกรที่สมัครใจซื้อประกัน โดยรัฐอุดหนุนส่วนใหญ่ และเกษตรกรสมทบบางส่วน ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะจ่ายได้ของเกษตรกร และจากการศึกษาในเบื้องต้นจะเกิดผลประโยชน์มากกว่ารัฐจ่ายทดแทน 606 บาท อยู่ในขณะนี้ รัฐจะเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันส่วนใหญ่ และเกษตรกรสมทบเบี้ยประกันเป็นบางส่วน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระ กรณีนี้จะคุ้มครองต้นทุนการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย เมื่อเกิดภัยพิบัติได้รับ เกษตรกรที่ซื้อประกันเท่านั้นจะได้รับการคุ้มครองหรือชดเชย สูงสุดไร่ละประมาณ 2,000 กว่าบาท จากการสอบถามอัตราค่าเบี้ยประกันเป็นอัตราที่เกษตรกสามารถจ่ายได้ไม่เกินไร่ละ 150 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งนำเสนอผลสรุปการศึกษาทั้ง 2 โครงการได้แก่ 1) โครงการศึกษาเพื่อสร้างระบบการประกันความเสียหายผลผลิตทางการเกษตร 2)โครงการศึกษาแนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อจะได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ครม.ทราบผลการศึกษาและแนวทางดำเนินงาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตร ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ