สุรินทร์ ออมย่า ลุยเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ครองแชมป์ผู้ผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตอันดับหนึ่งของไทยพร้อมเดินหน้าขยายโรงงาน เตรียมบุกตลาดอินโดจีน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 30, 2006 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ซูพรีโม
สุรินทร์ ออมย่า ผู้ผลิต และจำหน่าย แคลเซียมคาร์บอเนต รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พุ่งเป้าเติบโตมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง เร่งขยายกำลังการผลิตภายในประเทศ ตอบรับความต้องการแคลเซียมคาร์บอเนตในวงการอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดโรงแต่งแร่แคลไซต์ (Crushing Plant) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรแร่ รวมมูลค่าการลงทุนในประเทศกว่า 800 ล้านบาท พร้อมบุกตลาดอินโดจีน ตะลุยเปิดโรงงานผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตระดับ Hi — End มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ที่ประเทศเวียดนาม รวมทั้งนำร่องโครงการการใช้ก็าซเอ็น จี วี (NGV) กับรถบรรทุกขนส่งจนประสบความสำเร็จ สามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 40% สนองนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาล
ศศิศ มนต์เสรีนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยว่า ด้วยความสำเร็จของบริษัทกว่า 25 ปีในดำเนินธุรกิจผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การผลิตกระดาษ พลาสติก ยาง และสี เป็นต้น โดยบริษัทมีแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอต่อการผลิตมากกว่า 50 ปี และมีโรงงานที่มีกำลังการผลิต 360,000 เมตริกตัน / ปี ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่ขนาดกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย โดย 80% ของกำลังการผลิตจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าระดับ Hi —End ซึ่งบริษัทครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 60 % ในตลาดผลิตภัณฑ์ระดับ Hi — End โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตประมาณ 800,000 เมตริกตัน / ปี จากผู้ผลิตภายในประเทศกว่า 10 ราย ซึ่งกว่า 95% ของผลิตภัณฑ์เป็นการใช้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ
อุตสาหกรรมชั้นนำ มั่นใจแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพจาก สุรินทร์ ออมย่า
สุรินทร์ ออมย่า วางตำแหน่งสินค้าของบริษัทให้เป็นสินค้าคุณภาพสูง เหมาะกับความต้องการของลูกค้า พร้อมด้วยบริการความร่วมมือทางด้านเทคนิค การวิจัย และพัฒนาร่วมกัน เพื่อช่วยลูกค้าปรับปรุงคุณภาพสินค้าและช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยปัจจุบัน ลูกค้าของบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ บริษัท สี ไอ ซี ไอ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทีโอเอเพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย, บริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด, กระเบื้องตราช้าง, บริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด, บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด
ทุ่ม 800 ล้านบาท เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตภายในประเทศ
บริษัทพร้อมดำเนินการขยายโรงงานผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตอีก 200,000 เมตริกตัน / ปี ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2549 เพื่อตอบสนองความต้องการแคลเซียมคาร์บอเนตที่เพิ่มภายในประเทศ จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมกระดาษ พลาสติก และสี รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพในการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การผลิตวัสดุใช้ในการก่อสร้าง และการใช้เป็นสารเคมีหลักในการปรับปรุงดิน เพื่อการเกษตรกรรมที่เป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ สุรินทร์ ออมย่า ยังให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้าง โรงแต่งแร่แคลไซต์ (Crushing Plant) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แร่ธาตุอย่างคุ้มค่า ด้วยการรักษาระดับความบริสุทธิ์ของแร่ และลดการสูญเสียวัตถุดิบในการผลิต โดยเริ่มต้นกำลังการผลิตที่ 700,000 เมตริกตัน / ปี และพร้อมจะขยายสู่ 2,000,000 เมตริกตัน / ปี ในอนาคตต่อไป โดยมูลค่าการลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตภายในประเทศครั้งนี้รวมกว่า 800 ล้านบาท
บุกเปิดโรงงานที่เวียดนาม ขยายฐานธุรกิจสู่อินโดจีน
ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตและการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม ผลักดันให้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจและน่าลงทุนแห่งหนึ่งในภูมิภาคอินโดจีน สุรินทร์ ออมย่า จึงได้เปิดโรงงานผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตกำลังผลิต 100,000 เมตริกตัน/ปี ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ที่ประเทศเวียดนาม กำหนดเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2549 โดยเน้นการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพระดับ Hi — End ซึ่งแตกต่างกับโรงงานผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีอยู่แล้วในเวียดนาม เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมกระดาษ พสาสติก สี และยาง รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องการแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกในประเทศเวียดนาม และประเทศใกล้เคียง
ประสบความสำเร็จกับการนำร่องใช้ก๊าซ เอ็น จี วี กับรถบรรทุก
ตามนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุรินทร์ ออมย่า ได้เริ่มทดลองการติดตั้งระบบการใช้ก๊าซเอ็น จี วี กับรถบรรทุกขนาดต่างๆ ของบริษัทจำนวน 45 คัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 40% นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. ในการติดตั้งสถานีหัวจ่ายก๊าซ เอ็น จี วี ภายในโรงงานของสุรินทร์ ออมย่า จังหวัดลพบุรี ซึ่งนับเป็นสถานีหัวจ่ายแห่งแรกของ ปตท. ที่ติดตั้งภายในสถานประกอบการ โดยเริ่มใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ แคลเซียมคาร์บอเนต
(Calcium Carbonate)
แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate: CaCO3) เป็นวัตถุดิบชั้นกลางที่ผลิตจากหินปูน มีคุณสมบัติไม่เป็นพิษ มีความขาวและความสว่างสูง จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การใช้เป็นตัวเติมเต็ม (Filler) และตัวเพิ่มปริมาณ (Extender) ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสี อุตสาหกรรมพลาสติก พีวีซี และอุตสาหกรรมยาง ใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟัน ผงซักฟอก ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ สายหุ้มโทรศัพท์ ฉนวนหุ้มสายไฟ ยางลบ ถุงมือ และแว่นตา เป็นต้น
กรรมวิธีการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต
1. แคลเซียมคาร์บอเนตชนิดบดจากธรรมชาติ (Ground Calcium Carbonate: GCC) ได้จากการบดแคลเซียมคาร์บอเนตธรรมชาติ เช่น หินปูน (Limestone), หินอ่อน (Marble), ชอล์ก (Chalk) และแร่แคลไซต์ (Calcite) กรรมวิธีการผลิตมีหลายขั้นตอน อาทิ การลดขนาดแร่ (Size Reduction) และการคัดขนาด (Classification) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดอนุภาคต่างๆ ตามที่ตลาดต้องการ
2. แคลเซียมคาร์บอเนตชนิดตกผลึก (Precipctated Calcium Carbonate: PCC) ได้จากการนำแคลเซียมคาร์บอเนตธรรมชาติมาตกผลึกใหม่เป็นผงขนาดเล็ก ไม่มีกลิ่นไม่มีรสและไม่ละลายน้ำ
ผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนต
1. แบบผง (Dry Powder) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการบดแคลเซียมคาร์บอเนตธรรมชาติโดยตรง มีลักษณะเป็นผงสีขาวอนุภาคขนาด 1-147 ไมครอน ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ สี พลาสติก ยาง ผงซักฟอก ยาสีฟัน
2. แบบเคลือบผิว (Surface Coated Product) ได้จากการนำแคลเซียมคาร์บอเนตธรรมชาติแบบผง อนุภาคขนาด 1-15 ไมครอน มาเคลือบผิวอนุภาค เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก พีวีซี และอุตสาหกรรมยาง
3. แบบไม่เคลือบผิว (Uncoated Product ) เป็นผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนตที่ผสมอยู่ในรูปของของแข็ง ระหว่างแคลเซียมคาร์บอเนตธรรมชาติ กับเม็ดพลาสติก ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้นรูปต่างๆ เช่น ถุงปุ๋ย กระสอบพลาสติก ฉนวนสายไฟ ภาชนะ และท่อต่างๆ
4. แบบน้ำ (Slurry Product) นิยมใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ เนื่องจากตอบสนองความต้องการของโรงงานผลิตกระดาษด้านความสะดวกในการใช้งาน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แบบแห้งต้องมีขั้นตอนการทำให้เป็นแบบน้ำอีกครั้งที่โรงงาน ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตกระดาษ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซูพรีโม จำกัด
สิรีธร นิยมเสน โทร. 0-2658-1000 ต่อ 234
นลินี เรืองวิทยานุกูล โทร. 0-2658-1000 ต่อ 237
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ