กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--กพช.
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2552 — 2558 เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวทั้งภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง พร้อมเห็นชอบสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าของพม่า และร่างเอ็มโอยูรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 3
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 52 ว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2552 — 2558 เพื่อรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551 — 2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติของไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5,142 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2558 โดยประมาณการจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่จะเข้าระบบในปี 2552 — 2558 ตามแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 จำนวนประมาณ 6,890 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งในภาคอุตสาหกรรม (อัตราเติบโตเฉลี่ย 11%ต่อปี) ภาคการขนส่ง (อัตราเติบโตเฉลี่ย 23%ต่อปี) และการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 รวมทั้งการก่อสร้างโรงแยกก๊าซอีเทนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งในการดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาตินั้น ปตท.เตรียมแผนการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากอ่าวไทย และการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
สำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวปี 2559 — 2564 จะวางแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือแผน PDP ฉบับใหม่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า โดยแหล่งซอติก้าตั้งอยู่ในแปลง M9 และ M11 ในอ่าวเมาะตะมะ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในสหภาพพม่าประมาณ 60 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และเป็นสัญญาซื้อขายกับไทยในปริมาณที่เหลือ 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โดยจะพัฒนาและพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป
ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 3 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 440 เมกะวัตต์ โดยได้มอบหมายให้ กฟผ. นำร่าง MOU ที่ได้รับความเห็นชอบไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าโดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ยังคงบริหารงานกองทุนฯ ต่อไปได้อีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ตามระเบียบการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำหรับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าขณะนี้อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านไปอยู่ภายใต้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 086 421 1124 สนพ.