GHS มาตรฐานใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้

ข่าวทั่วไป Friday December 22, 2006 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
นอกเหนือจากมาตรฐาน ISO แล้ว อีกไม่นาน ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องคุ้นเคยกับมาตรฐานใหม่ ที่มีชื่อว่า GHS (The Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals)
GHS คือระบบจำแนกประเภทและการติดตามฉลากสารเคมีสากลที่ UN หรือสหประชาชาติเป็นผู้พัฒนาขึ้น เพื่อให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี (โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม) ของประเทศต่าง ๆ มีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันจะทำให้ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเป็นการง่ายต่อการติดตามตรวจสอบ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระบบ GHS เป็นระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้มาตรฐานของการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีรวมถึงเนื้อหาเอกสารความปลอดภัย ( Safety Data Sheet) ที่ใช้ในการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีแต่ละชนิดเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกประเทศที่ทำการค้าระหว่างกัน ปัจจุบันมีการนำสารเคมีมาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรมที่มีในสถานประกอบการในปี 2547 มีปริมาณกว่า 3 ล้านตัน และมีการนำเข้า-ส่งออก สูงกว่าเดือนละ 1,000 ตัน ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนรองรับระบบ GHS เพื่อให้มั่นใจว่าสารเคมีแต่ละชนิดมีความปลอดภัยในการใช้ การขนส่ง รวมถึงการจำกัด เพราะสารเหล่านี้นำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะใช้งบประมาณ 77 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเริ่มปี 2550 เป็นต้นไป
แม้ GHSจะเป็นเพียงแนวทางมิใช่ข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม แต่ GHS จะช่วยให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในแต่ละประเทศถูกปรับไปสู่ทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลในการช่วยลดปริมาณการทดสอบและประเมินสารเคมีให้น้อยลง และทำให้การค้าสารเคมีระหว่างประเทศมีมาตรฐานร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มระดับการปกป้องและคุ้มครองมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วยรูปแบบการสื่อสารที่แสดงถึงความอันตรายที่เป็นสากล ซึ่งขอบข่ายของระบบ GHS นั้น จะครอบคลุมสารเคมีอันตรายทุกชนิด สารละลายเจือจาง และสารผสม ของสารเคมี แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรค สารเติมแต่งในอาหาร เครื่องสำอางค์ และสารป้องกันศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในอาหาร โดยการนำ GHS มาใช้นอกจากจะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการ และภาครัฐแล้วยังเป็นผลดีต่อแรงงานและสังคมโดยรวมด้วย
“การนำ GHS มาปรับใช้ จะทำให้โรงงานมีต้นทุนในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านสารเคมีลดลง มีต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญคือภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของบริษัทดีขึ้น ขณะเดียวกันคนงานก็จะมีความปลอดภัยในการทำงานดีขึ้น ขณะที่โอกาสเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีก็ลดน้อยลง ลดความสูญเสียเวลา งบประมาณ และบุคลากรของภาครัฐที่ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่สำคัญยังมีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย ” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวสรุป
แต่การนำGHS มาใช้กับประเทศไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจ ทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างสอดคล้องกัน โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินการใน ๒ ส่วนหลัก ๆ คือ (๑) การตรวจสอบกฎระเบียบต่าง ๆ ของไทยที่เกี่ยวข้องกับ GHS และ (๒) ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม และการเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมต่อการนำระบบ GHS มาใช้
แม้ว่าระบบGHSจะเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลเพื่อบ่งบอกความอันตรายของสารที่ต้องการให้เกณฑ์ในการจำแนกประเภทสินค้าอันตรายจะสามารถมีรูปแบบเดียวกัน มีการแสดงความเป็นอันตราย สัญลักษณ์และสัญญาณที่เป็นมาตรฐานและเป็นแบบเดียวกัน โดยมิได้มีลักษณะของการบังคับให้ทุกประเทศต้องนำไปใช้ แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่า ในไม่ช้าระบบ GHS ก็จะเป็นเหมือนมาตรฐาน ISO ที่ผู้ผลิตสินค้าจะต้องมีไว้บนกล่องสินค้าในยุคนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกระดับ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ