กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--เจจีซี
ปี 2552 ที่ผ่านมาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองและไม่พูดถึงไม่ได้ คือการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งแม้ผลสรุปการประชุม ผู้นำและตัวแทนจาก 193 ประเทศที่เข้าร่วมจะมีมติรับทราบเพียงความตกลงโคเปนเฮเกน นั่นคือการเห็นพ้องว่าต้องควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่ได้ข้อสรุปที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการกำหนดเป้าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่แน่ชัดของประเทศผู้ปลดปล่อยหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน แต่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่จะเพิกเฉยได้
ขณะที่การเตรียมรับมือในส่วนของประเทศไทยเอง ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง นักวิชาการจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (เจจีซี) หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุม ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ควรใช้โอกาสและประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาฯและพิธีสารฯที่มีอยู่อย่างฉลาด และควรมีส่วนรับผิดชอบในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน หากแต่ว่าวันนี้ประเทศไทยรู้แล้วหรือยังว่า ”โอกาสและประโยชน์ของประเทศคืออะไร”
“ตอนนี้อาจพูดได้ว่าเรายังไม่มีอะไรในกระเป๋า แม้ว่าตอนนี้ทางเจจีซีจะได้เริ่มศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยอยู่มาก สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างองค์ความรู้ และฐานข้อมูลของประเทศไทยว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าใด และหากประเทศไทยต้องการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม คมนาคม หรือ พลังงาน มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเท่าใด โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของตนเอง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือต้องมีการจัดการความรู้และงานวิจัยเกี่ยวกับโลกร้อนที่มีอยู่ให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจจะมีหน่วยงานกลาง หรือ มีการตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจขึ้นมาติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่พัฒนาไปเร็วมาก มีการเปลี่ยนประเด็นในการพูดคุยกันอยู่เสมอ หากเราไม่รู้ว่าประชาคมโลกคุยอะไรกันอยู่ เราจะตามไม่ทัน
นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็ยังขาดการวิเคราะห์ที่ตกผลึก ว่า บทบาทของประเทศไทยต่อสถานการณ์โลกร้อนควรเป็นเช่นไร เพราะความจริงแล้วประเด็นในการเจรจาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเด็นการเจรจาที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น การรับการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีในการปรับตัว การปรับปรุงระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ต้องมีการรายงานและตรวจสอบภายใต้ข้อตกลงใหม่ในอนาคต เป็นต้น ซึ่งหากมีการติดตาม และพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้เห็นช่องทางที่จะเข้าไปร่วมเจรจาเพื่อจะเกิดประโยชน์หรือส่งผลกระทบกับบ้านเราน้อยที่สุด”
ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวว่า การรับมือกับภาวะโลกร้อน ไม่ได้มีแค่เรื่องการกำหนดกรอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำแต่เรายังไม่ค่อยตระหนักถึงนั้นคือ การทำงานวิจัยเชิงลึก ที่จะต้องเตรียมรับมือในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาคเกษตรกรรม เรื่องของผลผลิตการเกษตร ความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคการเกษตร เรื่องราคาสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเอง
“สมมุติว่า ประเทศไทยจะส่งออกข้าว เราจะต้องสามารถพิจารณาได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนนั้น มีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างไร ไม่เว้นแม้แต่กับคู่แข่งที่เราเองก็ควรต้องมีข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ด้วย เช่น ประเทศเวียดนามมีการผลิตข้าว และมีความเสี่ยงเรื่องระดับน้ำทะเลที่จะท่วมสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามเอง เราสามารถวิเคราะห์ได้หรือไม่ว่า หากเวียดนามจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น จะต้องมีการลงทุนป้องกันเท่าไหร่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าต้นทุนในการปลูกข้าวของเขาจะสูงขึ้นหรือไม่ ต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เวียดนามยังคงสามารถขายข้าวในราคาเดิมได้หรือไม่ หรือว่าขยับราคาข้าวของเขาขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาส เหมือนเป็นการรู้เขารู้เรา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศเราได้ในอนาคต” ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ดีความรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ในทุกภาคส่วนของทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องตระหนักและตั้งใจจริงในการดำเนินการ ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมาคนไทยได้แสดงความตื่นตัวกับเรื่องสภาวะโลกร้อนอย่างมาก เช่น งานวิจัยที่ได้ดำเนินการโดยสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในเรื่องข้อตกลงพหุภาคี และการประเมินผลกระทบของภาวะโลกร้อนในประเทศไทย การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สผ. เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงแต่จะทำอย่างไร ให้กระแสการตื่นตัวที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพัฒนา สัมฤทธิ์ผล และเกิดประโยชน์แก่ประเทศและต่อโลกสูงสุด