สมัชชาสุขภาพแห่งชาติแนะรัฐเร่งลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกำหนดเพดานแอลกอฮอลล์ให้ต่ำลงกว่าเดิม

ข่าวทั่วไป Monday January 4, 2010 07:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แม้แนวโน้มอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยจะลดลงอย่างช้าๆ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ยอดผู้เสียชีวิตปี 2551 มีจำนวนถึง 11,267 คน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน เป็นอันดับ 2 รองจากโรคเอดส์ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่า 232,8555 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นนับเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการสูญเสียมากที่สุด การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุนับว่าเป็นสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน ประเด็นดังกล่าวจึงถูกบรรจุเป็น 1 ใน 11 ประเด็น ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้ใช้เวลาขับเคี่ยวร่างมติการแก้ไขอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเวลา 3 วัน จนกระทั่งได้มติที่สามารถปฏิบัติได้จริงอันเกิดขึ้นมาจากแนวความคิดเห็นจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศกว่า 1,500 คน โดยเพื่อลดอัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามวาระแห่งชาติและข้อตกลงที่ทำไว้กับสหประชาชาติ มติของที่ประชุมจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นกลไกหลักในการประสานงานทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการทำงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยมีเป้าหมายให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2563 ลดลงร้อยละ 50 ของอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2553 “ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนนับเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เราต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งด้านบุคคลและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เหล่านี้จึงรอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” นพ.สมาน ฟูตระกูล กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าว ขณะเดียวกัน ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปีละเกือบ 1 ล้านคน ร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดกับรถจักรยานยนต์ ทั้งอัตราการเพิ่มของรถจักรยานยนต์ยังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วกว่า 16 ล้านคัน กลไกการแก้ปัญหาจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย นางสาวบุษยา คุณาสวัสดิ์ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชา จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์บนท้องถนน มีเพียงหน่วยงานของรัฐและคนในชุมชนเท่านั้น ที่ออกมาเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าว โดยไม่เห็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการผลิตและผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์เลย มติจากสมัชชาฯ จึงขอให้ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จัดสถานที่และบริการฝึกปฎิบัติทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมทุกอำเภอ รวมถึงให้ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถอย่างมีคุณภาพ ประกาศใช้หลักสูตรการอบรม 15 ชั่วโมงของกรมการขนส่งทางบก การตรวจสมรรถภาพทางกาย ความสามารถในการขับขี่ในการต่อใบอนุญา ตขับขี่ สำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะ ควรมีใบรับรองแพทย์ผ่านการคัดกรองโรคหัวใจรุนแรง “จากการสอบถามการฝึกหัดรถจักรยานยนต์พบว่า ครึ่งหนึ่งเริ่มขับขี่ตั้งแต่อายุ 8-14 ปี โดยมีเพียงผู้ปกครองและเพื่อนเป็นผู้สอน มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ฝึกหัดจากโรงเรียนสอนขับขี่” นางสาวบุษยา กล่าว ทั้งนี้ มติอื่นๆ ยังเน้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงผู้ใช้รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย งดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ เป็น 100 % ภายใน พ.ศ. 2554 อีกทั้งร่วมผลักดันให้มีการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ในอัตราที่เหมาะสมตามขนาดเครื่องยนต์ ก่อนเทศกาลปีใหม่จะมาถึง ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีผู้ใช้รถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก มติของสมัชชาฯ ได้พยายามเรียกร้องให้มีการดำเนินการลดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท โดยกำหนดให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีค่าไม่มากกว่า 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ “ที่สำคัญคือ ควรผลักดันให้มีการกำหนดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่อายุน้อย และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวให้ต่ำเป็นพิเศษ พร้อมกับเร่งรัดการบังคับใช้อีกด้วย” ทีมวิชาการ คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพ กล่าว สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวสมัชชาสุขภาพสามารถติดตามเพิ่มเติม ได้ที่ www.samatcha.org หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) ฝ่ายประชาสัมพันธ์การประชุมสมัชชาฯ e-mail : todaytion@yahoo.com
แท็ก โรคเอดส์   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ