กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ความเคลื่อนไหวที่นักการศึกษาจับตามองพิเศษ เกิดขึ้นที่ราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักการศึกษาทั่วโลกจาก 16 ประเทศ จัดประชุมเพื่อเริ่มคิดทำการศึกษาใหม่ แม้แต่สหรัฐอเมริกา ต้นแบบที่ประเทศไทยต่อท่อนำระบบการศึกษามาใช้ ก็พบอัตราความรุนแรงเกิดขึ้นกับนักเรียนในโรงเรียน เพิ่มขึ้นปีละ 30% โจทย์จึงมีอยู่ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ในระบบการศึกษา เยาวชนที่จะสร้างขึ้นมาเป็นพลเมืองของโลก จะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
เมื่อคนในสังคมตะวันตกที่มีความเจริญทางด้านวัตถุอย่างสูง กำลังเริ่มหันกลับมาตั้งคำถาม พยายามสร้างเครื่องมือมาใช้ในระบบการศึกษา หันกลับมามองบ้านเรามีสิ่งดีๆ ภายใต้ระบบวัฒนธรรม ถึงเวลาต้องมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที
ขณะที่การดำเนินการปฏิรูปอุดมศึกษารอบ 2 กำลังขับเคลื่อนไปให้สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยเห็นว่า แนวทางการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning:TL) และจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นแนวทางการศึกษาแบบองค์รวม ที่พัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติด้านในของตัวเอง จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งภายในตนเอง องค์กร และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
10 ปีล้มเหลว การศึกษาสร้างแต่คนเก่ง
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ ทุ่มเททำงานเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาอย่างลึกซึ้ง เฉกเช่น นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ที่สอนเด็กทำนา ปลูกข้าว ปลูกผักเอง จนได้รับคำชื่นชมนักเรียนมีชีวิตที่มีความสุข มองระบบการศึกษาในประเทศไทยที่นำแนวความคิดมาจากต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ว่า เป็นระบบที่สร้างคนเก่งมุ่งเน้นการศึกษาที่ใช้สมองเป็นหลักมากเกินไป
“การที่ประเทศไทยจัดระบบการศึกษาตามประเทศต่างๆ เหล่านั้น แล้วคิดว่าการสร้างคนเก่งขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่โรงเรียนก็สอนคนให้เก่งที่สุด เพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยก็คัดเลือกเฉพาะคนเก่งที่สุด มีคะแนนสูงสุดเข้ามาในระบบ ซึ่งระบบที่แข่งขันกัน เอาชนะกัน สร้างคนเก่งขึ้นมากลับกลายสร้างปัญหาหลายอย่างตามมา ขณะที่ผู้บริหารสูงสุดในระบบการศึกษา ก็เปลี่ยนอยู่ตลอดอยู่ได้ไม่นาน แต่ละคนมีนโยบายแตกต่างกันจนสร้างความสับสนในระบบการศึกษา” ผอ.โรงเรียนสัตยา ไส กล่าว
บางคนยังสงสัย “คนเก่ง” จะสร้างปัญหาอะไรตามมาบ้าง อาจารย์อาจอง ไล่เรียงให้เห็นชัดๆ ตั้งแต่คนเก่งไม่ชอบให้คนเก่งเท่า คนเก่งต้องพยายามเอาชนะผู้อื่นตลอดเวลา คนเก่งไม่ยอมช่วยเหลือคนไม่เก่งพยายามช่วยตัวเองเพื่อเอาชนะ นี่คือปัญหาประเทศชาติเรา ทุกวันนี้พบคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เยาวชนมีความเครียดสูงหันไปพึ่งยาเสพติด
พร้อมตั้งคำถามว่า นี่คือระบบอะไรในประเทศไทย “ระบบการศึกษา ถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากที่พยายามปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาประชุมวิเคราะห์ปรากฏว่า ทุกคนยอมรับล้มเหลว เพราะการศึกษาไปเน้นคนเก่งจึงเป็นที่มาต้องปฏิรูปการศึกษา รอบ 2”
เด็กร.ร.สัตยาไส ตัวอย่าง GNH
หากเราเปลี่ยนการศึกษาเน้น “ความดี” ก่อนสร้างคนให้เป็นคนดีเป็นมนุษย์ที่ดีเหนือสิ่งใด การทำเรื่องการศึกษาตามภูฎานที่เน้น GNH Gross National Happiness in Education อาจารย์อาจอง เห็นว่า ก็ไม่ต้องไปอายที่ประเทศไทยจะเดินตามประเทศเล็ก ๆ เหตุเพราะว่า การมุ่งเน้นความสุข สร้างคนให้มีความสุข สร้างคนดีเหนือสิ่งใด คนดีจะไม่คิดแบบคนเก่ง คนดีจะคิดถึงคนอื่นก่อน คิดถึงส่วนรวมสังคมประเทศชาติ และโลกทั้งโลกก่อน ที่สำคัญไม่เห็นแก่ตัว
จากปรัชญาของโรงเรียนสัตยาไส “ปลายทางการศึกษา คือ อุปนิสัยที่ดีงาม” อาจารย์อาจอง เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า เด็กที่นี่ เป็นตัวอย่างของ GNH เด็กเป็นคนดียิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุข ด้วยการเรียนการสอนไม่เน้นวิชาการ ไม่มีการติวพิเศษ ไม่ส่งเด็กไปกวดวิชา ทุกวันนี้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 100 % นี่คือสิ่งที่ปรารถนาสร้างคนดีเหนือสิ่งใดให้มีความสงบ ความสุขในชีวิตเสร็จแล้วเมื่อออกไปก็จะช่วยประเทศชาติช่วยสังคมให้ดีขึ้น
เคยมีงานวิจัยของอาจารย์อาจอง ทำไว้พบมีปัจจัย 2 อย่างในการสร้างคนดี คือ 1.ครูดี เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยคุณสมบัติต้องเป็นครูที่พูดทุกอย่างออกมาจากใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง 2. ที่ขาดไม่ได้ คือ การฝึกสมาธิ ต้องยกระดับจิตใจผู้เรียนให้สูงขึ้นเพราะหากไม่ฝึกสมาธิเด็กก็จะไม่มีการ เปลี่ยนแปลง ทั้งหมดระบบการศึกษาของไทย จึงต้องช่วยกันตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมศึกษา ช่วยกันตั้งแต่ระดับโรงเรียน แล้วป้อนคนดีเข้าสู่มหาวิทยาลัย
ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th