กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่าในระดับที่ยอมรับได้ ตลอดจนการสนับสนุนด้านการเงินของผู้ถือหุ้นรายสำคัญของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนเนื่องจากบริษัทไม่มีสาขาที่สามารถให้บริการลูกค้าที่อยู่นอกบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ตลอดจนอัตราก่อหนี้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น และการสนับสนุนด้านการเงินที่จำกัดจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจจำกัดการขยายตัวของบริษัทในอนาคต ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจและจำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตด้วยเช่นกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายสำคัญ รวมทั้งสามารถรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันและสร้างกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและคงต้นทุนทางการเงินในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้ได้แม้ภาวะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะมีโอกาสสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่ง ก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ประเทศญี่ปุ่น (เดิมชื่อ Mitsui Taiyo Kobe Bank) เพื่อดำเนินธุรกิจลีสซิ่งและสินเชื่อเช่าซื้อ และในปี 2547 ได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง การปรับโครงสร้างภายในของกลุ่มธนาคารกรุงเทพในปี 2548 มีผลทำให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 10% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนลดลงเหลือ 40% อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธนาคารกรุงเทพก็ซื้อหุ้นจำนวน 10% คืนมาจากธนาคารซีเอ็มบี ไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ธนาคารกรุงเทพจะให้การสนับสนุนบริษัทต่อไป
บริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรในลำดับที่ 6 ในจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 12 รายในฐานข้อมูลของ
ทริสเรทติ้งปี 2551 โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจาก 2,383 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 4,192 ล้านบาทในปี 2551 และอยู่ที่ 4,094 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ด้วยเหตุที่บริษัทไม่มีสาขาอื่นนอกจากสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวจึงทำให้ลูกค้าของบริษัทจำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงในแง่ของที่ตั้งสาขาที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินรายใหญ่อื่นๆ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าในปี 2551 บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่ง ได้ปรับปรุงนโยบายด้านบัญชีในการบันทึกค่าเสื่อมราคาโดยเปลี่ยนวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาจากวิธีผลรวมจำนวนงวดเพื่อลดราคาตามบัญชี (Sum-of-the-Years’ Digits) เป็นวิธีเส้นตรง (Straight Line) ซึ่งการปลี่ยนโยบายด้านบัญชีดังกล่าวทำให้ในปี 2551 บริษัทมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าลดลง ในปี 2551 โดยรายได้สุทธิ (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ระหว่าง 100-300 ล้านบาทในปี 2546-2550 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 618 ล้านบาทในปี 2551 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 399 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในระดับสูงที่ 26.79% ในปี 2549 ระดับ 28.19% ในปี 2550 ระดับ 48.71% ในปี 2551 และ 24.82% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2552 นอกจากนี้ ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนที่ดีคือการมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มากกว่า 73% ของหนี้เงินกู้ของบริษัทเป็นการกู้ยืมระยะสั้น การที่บริษัทบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่า (Residual Value) ที่มีประสิทธิภาพทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคือกำไรจากการ ขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่องยกเว้นปี 2551 บริษัทมีรายได้ส่วนนี้คิดเป็น 22%-23% ของรายได้สุทธินับตั้งแต่ปี 2548 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งจัดว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 72 ล้านบาทในปี 2549 73 ล้านบาทในปี 2550 32 ล้านบาทในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 83 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ปรับปรุงใหม่หลายฉบับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 โดยหนึ่งในระเบียบดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินจำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องที่สถาบันการเงินดังกล่าวถือหุ้นเกิน 10% ได้ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งแล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากประกาศดังกล่าวทำให้สภาพคล่องและความยืดหยุ่นในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทมีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากในขณะนั้นบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้นในปี 2552 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จากจำนวนหนี้สินรวม 3,418 ล้านบาทเป็นสัดส่วนเงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือธนาคารกรุงเทพ 20% และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation สาขากรุงเทพฯ 26%
บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่ง มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีแม้จะมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีความผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง บริษัทมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับสูงสุดที่ 3.47% ในปี 2549 และลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 2.90% ในปี 2550 และ 2.74% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.98% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายสำหรับบริษัทคือการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ให้ได้ในช่วงการขยายสินเชื่อเนื่องจากสถานะเครดิตของลูกค้าของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BSL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)