กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาทของ บริษัท ไทยคอมเมอร์เชียล
ออโต้ จำกัด ที่ระดับ “BBB+” พร้อมแนวโน้ม Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทดังกล่าวได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของกลุ่มยนตรกิจ อันดับเครดิตสะท้อนการสนับสนุนที่แข็งแกร่งทั้งในด้านธุรกิจและการเงินที่บริษัทได้รับจากผู้ถือหุ้น รวมทั้งระบบการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของบริษัท นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของกลุ่มยนตรกิจในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ยุโรปและเกาหลีในตลาดเมืองไทย รวมทั้งประสบการณ์ในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสถานะในการแข่งขันและการขยายสินเชื่อของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้น โดยอาจต้องมีการทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทหากโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า หลังจากธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นทั้ง 3 รายของบริษัทไทยคอมเมอร์เชียล ออโต้ ได้รวมการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจและรวมศูนย์การปฏิบัติงานของกลุ่มเมื่อปี 2547 บริษัทก็รับผิดชอบให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แก่เฉพาะลูกค้าของกลุ่มยนตรกิจเท่านั้น ในขณะที่ธนาคารทิสโก้ให้บริการแก่ลูกค้านอกกลุ่มยนตรกิจ ดังนั้น ผลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มยนตรกิจจึงมีอิทธิพลโดยตรงต่อทิศทางธุรกิจของบริษัท จากการที่ยอดขายรถยนต์รวมของกลุ่มยนตรกิจชะลอตัวลง จึงส่งผลให้สินเชื่อใหม่ของบริษัทสำหรับกลุ่มยนตรกิจลดลงจาก 1,275 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 974 ล้านบาทในปี 2547 ในขณะที่สินเชื่อรวมได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2,855 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 2,389 ล้านบาทในปี 2547 และ 2,298 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 ทริสเรทติ้งคาดว่าหากกลุ่มยนตรกิจยังไม่ปรับปรุงสถานะทางการตลาดให้ดีขึ้น สินเชื่อรวมของบริษัทก็จะลดลงอีกภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งกล่าวว่า คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทไทยคอมเมอร์เชียล ออโต้ อยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากบริษัทมีระบบการอนุมัติสินเชื่อที่เป็นมาตรฐานเดียวกับของธนาคารทิสโก้และใช้ระบบการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ระบบเดียวกัน แม้ว่าอัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัท (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนและสินเชื่อที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย) เพิ่มขึ้นจาก 0.7% ในปี 2546 เป็น 1.4% ในปี 2547 และ 1.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งรายอื่นที่ได้รับอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้อย่างเพียงพอสำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมดของบริษัทแล้ว
จากการที่สินเชื่อของบริษัทมีแนวโน้มที่จะไม่ขยายตัวในระยะปานกลาง ผู้บริหารของบริษัทจึงตัดสินใจที่จะลดทุนมูลค่า 400 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของทุนชำระแล้วโดยการคืนทุนแก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะถดถอยลงหลังจากที่ได้ดำเนินการแผนลดทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--