กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--สกศ.
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำรายงานปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2550-2551 โดยได้ดำเนินการติดตามผลการพัฒนาการศึกษา และนำมาวิเคราะห์สภาพการได้รับการศึกษา รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จัดให้ทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาฟรี 15 ปี และการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยทำการศึกษาตั้งแต่ ปี 2547-2551 พบว่า จำนวนประชากรในวัยเรียน (3-24 ปี) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ประชากรนอกวัยเรียน (อายุ 25-59 ปี) และกลุ่มนอกวัยแรงงาน (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 49.1 ต่อ 50.9
เลขาธิการสกศ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประชากรที่อยู่ในระบบ พบว่า จากปี 2547-2551 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 8.0 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา กลุ่มอายุ 15-39 ปี เพิ่มเป็น 10.3 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มอายุ 40-59 ปี เพิ่มเป็น 7.1 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 4.6 ปี หรือสูงกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล็กน้อย จากตัวเลขจะสังเกตได้ว่ากลุ่มอายุที่กล่าวมามีอัตราการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
“สำหรับประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี หากพิจารณาการศึกษาเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 8.4 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 ปี ในปี 2551 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษา จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 9.5 ปี ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงต้องเร่งดำเนินนโยบายและกำหนดมาตรการในการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน เพื่อให้สนองต่อความต้องการของกลุ่มด้อยโอกาส และต้องจัดให้มีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มประชากรวัยต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ และดึงสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มดังกล่าว ให้ได้รับการพัฒนาต่อยอดวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยสูงขึ้นตามลำดับ” รศ.ธงทอง กล่าวสรุป