รายงานไอบีเอ็ม โกลบอล ซีอีโอ เผยซีอีโอทั่วโลกกำลังวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงตั้งเป้าใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการเติบโตซีอีโอแถลงความร่วมมือและสร้างพันธมิตรกับผู้นำทางด้านความคิดนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2006 10:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด รายงานผลการศึกษา พบว่า 65% ของซีอีโอบริษัทชั้นนำทั่วโลกประกาศการวางแผนปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ในอีกสองปีข้างหน้าเพื่อรับมือกับแรงกดดันในการแข่งขันและตลาดโลก
รายงานไอบีเอ็ม โกลบอล ซีอีโอ 2006 คือการศึกษาที่ใช้การสัมภาษณ์รายบุคคลกับซีอีโอขององค์กรและธุรกิจชั้นนำทั่วโลกจำนวน 765 คน ซึ่งถือเป็นการศึกษาจากระดับซีอีโอเชิงลึกที่สมบูรณ์แบบที่สุด การสัมภาษณ์กว่า 300 ครั้ง ถูกจัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ด้วยจำนวน 90 ครั้งในญี่ปุ่น และมากกว่า 50 ครั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และจีน รายงานนี้เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากรายงานไอบีเอ็ม โกลบอล ซีอีโอ 2004 ซึ่งเปิดเผยว่าซีอีโอได้เปลี่ยนแนวทางจากการตัดรายจ่ายมาเป็นขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้
ในขณะที่ผู้บริหารพิจารณาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีเพียง 15% กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาประสบความสำเร็จในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในการที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รายงานพบว่าซีอีโอส่วนใหญ่กำลังมองแนวโน้มที่มากไปกว่าการเติบโตทางธุรกิจซึ่งก็คือการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ผู้บริหารให้ความสำคัญมากขึ้นกับการนำนวัตกรรมมาใช้กับโมเดลธุรกิจและการทำธุรกรรมซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการการเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารยืนยันว่าประมาณสองในสามของความพยายามในองค์กรมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมโดยมองไปที่โมเดลธุรกิจ ธุรกรรมและกระบวนการ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหาร 61% ที่ได้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมผ่านรูปแบบธุรกิจนั้นกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงในโมเดลธุรกิจของคู่แข่งที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง
“ในขณะที่องค์กรต่างๆกำลังแข่งขันกันอยู่ในยุคโลภาภิวัฒน์ ผู้บริหารจำเป็นต้องมองหาแนวทางใหม่ สร้างนวัตกรรมเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ” คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด กล่าว “นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงผลิตภัณฑ์หรือการยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานอีกต่อไป แต่หมายถึงการสร้างสรรค์รูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่และแข่งขันกันด้วยวิธีการใหม่ๆ”
ผู้บริหารท่านหนึ่งได้เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า “โมเดลธุรกิจที่เราเลือกจะเป็นตัวกำหนดว่ากลยุทธของเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่” ผู้บริหารอีกท่านหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างนวัตกรรมในด้านโมเดลธุรกิจและการดำเนินงานจะไม่เพียงจะสร้างโอกาสในการลดต้นทุนแต่ยังนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม”
ในการผลักดันนวัตกรรม รายงานไอบีเอ็มพบว่า 76%ของผู้บริหารกล่าวว่าพันธมิตรธุรกิจหรือความร่วมมือจากลูกค้าคือแหล่งความคิดสำคัญ ผลการศึกษานี้พบว่าผู้บริหารเพียง 14% กล่าวว่าหน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายในองค์กรเป็นแหล่งความคิดสำคัญ ซึ่งเมื่อเรียงลำดับแล้ว หน่วยงานวิจัยและพัฒนา เป็นแหล่งความคิดใหม่ๆ สำคัญเป็นอันดับที่แปด
ซีอีโอทั่วโลกต่างเข้าใจดีว่าควรจะวางแผนการใช้นวัตกรรมเพื่อจะคว้าโอกาสทางธุรกิจและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของนวัตกรรมกำลังปรากฎความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อสร้างความชำนาญเฉพาะทาง ตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความร่วมมือจากพันธมิตรจะเป็นทั้งสิ่งสนับสนุนและตัวกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินงานให้ก้าวไปอีกขึ้นหนึ่ง” นางศุภจีกล่าว
สามในสี่ของซีอีโอ (76%) กล่าวว่าการผนึกกำลังกับพันธมิตรคือสิ่งที่จำเป็น แต่มีเพียง 51% เท่านั้นที่กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาได้จริงจังในการสร้างพันธมิตรธุรกิจ การศึกษาจากไอบีเอ็มยังพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรและผลประกอบการด้านการเงิน องค์กรที่มีการเติบโตทางรายได้สูงได้จะเป็นองค์กรที่มีพันธมิตรจากที่ต่างๆ มากกว่าองค์กรที่มีการเติบโตทางรายได้ช้าอย่างเห็นได้ชัด ซีอีโอในองค์กรที่มีผลประกอบการดีกว่ากล่าวว่าองค์กรของพวกเขาใช้บริการผู้เชี่ยวชาญภายนอกหรือพันธมิตรทางธุรกิจมากกว่าองค์กรที่มีผลประกอบการน้อยถึง 30%
นอกเหนือจากนี้ ซีอีโอหลายท่านได้กล่าวว่าผลประโยชน์อันดับต้นๆ จากการร่วมมือกับพันธมิตรคือ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพและสร้างความพอใจให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ใช้ประโยชน์จากทักษะความเชี่ยวชาญของพันธมิตรและมีโอกาสรู้จักผลิตภันฑ์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มรายได้ และสามารถรุกเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ได้
ในการผนึกกำลังกับพันธมิตร ผู้บริหารท่านหนึ่งได้แสดงทัศนะว่า “ปัจจุบันนี้มีพันธมิตรมากมายในตลาดที่จะสามารถส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในองค์กรซึ่งมีความสามารถและความชำนาญมากกว่าจะพยายามสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง” อีกหนึ่งความเห็นคือ “เราต้องการบุคคลที่สามที่จะมาเป็นเกณฑ์มาตรฐานและเป็นพันธมิตรเกื้อหนุน ซึ่งจะช่วยให้บุคคลากรในองค์กรของเรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น”
ในส่วนของการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้น ซีอีโอส่วนใหญ่กล่าวว่าอุปสรรคภายในองค์กรคืออุปสรรคสำคัญมากกว่าแรงผลักดันจากภายนอก อย่างไรก็ตาม มีเพียง 35% ของซีอีโอที่เห็นว่าการสร้างนวัตกรรมเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและต้องการจะต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวงเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับองค์กร”
เกี่ยวกับรายงาน ไอบีเอ็ม โกลบอล ซีอีโอ 2006
รายงานไอบีเอ็ม โกลบอล ซีอีโอ 2006 คือการประเมินแนวทางความคิดของผู้บริหารระดับสูงสุดที่มีต่อการวางแผนในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า โดยใช้การสัมภาษณ์โดยตรงเป็นเครื่องมือในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้คือผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรชั้นนำทั่วโลกจำนวน 765 คน ซีอีโอผู้ให้สัมภาษณ์ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศหลักทั่วโลก โครงการศึกษาเชิงลึกนี้จัดทำขึ้นโดย IBM Business Consulting Services’ Strategy and Change และ IBM Institute of Business Value ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาต่อเนื่องที่จะให้ข้อมูลและบทวิเคราะห์เชิงลึกกับลูกค้า รายงานนี้เป็นรายงานรายครึ่งปีครั้งที่สองของโกลบอล ซีอีโอ ที่ได้จัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2547
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ โทรศัพท์: 0-2273-4639 อีเมล์: krisana@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ